คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2683/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ไปชี้แจงให้ถ้อยคำและตอบข้อซักถามของเจ้าพนักงานตรวจภาษีอากรเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากร ตลอดจนให้ถ้อยคำยินยอมหรือปฏิเสธการรับผิดชอบที่จะเสียภาษีอากรใด ๆแทนบริษัทโจทก์จนเสร็จการที่ ป. ทราบคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีแล้วยอมรับว่าบริษัทโจทก์เสียภาษีการค้าไม่ถูกต้อง ยินยอมชำระภาษีการค้าส่วนที่ขาดเพิ่มเติมโดยไม่ขอโต้แย้งหรืออุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้นทั้งมีบันทึกข้อตกลงด้วย กรณีเป็นการที่ ป. ยอมรับว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มและเงินเพิ่มถูกต้องดังนี้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์ระงับไปแล้วเพราะการกระทำของ ป.ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มีผลผูกพันโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่โดยประมูลและจัดส่งหินเพื่อการก่อสร้างถนนให้แขวงการทางตากและศูนย์เครื่องมือกลตาก ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมทางหลวงเป็นรายได้หลัก และดำเนินกิจการโรงโม่หินขนาดเล็กที่ตำบลลานหอยอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย โดยผลิตหินที่ใช้เพื่อการก่อสร้าง (หินผสมคอนกรีต) เป็นรายได้เสริม ในระหว่างปี2523-2528 โจทก์ได้ทำสัญญาส่งหินให้หน่วยงานดังกล่าวของกรมทางหลวงจำนวนหลายสัญญาในแต่ละปี แต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถที่จะนำหินที่ผลิตจากโรงโม่ของโจทก์เองมาส่งให้ได้ เพราะระยะทางไกลไม่คุ้มค่าขนส่ง โจทก์จึงได้ซื้อหินจากโรงโม่สองแห่งของห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลาจำเรียง โดยโจทก์เป็นผู้ดำเนินการด้านขนส่งหินจากโรงโม่ดังกล่าวเอง ซึ่งในการประมูลจัดส่งหินให้แก่หน่วยงานของกรมทางหลวงนั้นต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ค่าขนส่งเป็นหลักเมื่อโจทก์จัดส่งหินให้แล้วทางหน่วยงานของกรมทางหลวงจะจ่ายเงินให้เป็นงวด ๆ ตามปริมาณหินที่จุดส่งให้ตามงวดที่ระบุในสัญญา โดยในการจ่ายเงินแต่ละงวด เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 2.2 หรือ3.3 แล้วแต่กรณีสำหรับเป็นค่าภาษีการค้าและรายได้สุขาภิบาลและอีกร้อยละ 1 เป็นค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมภาษีการค้าและภาษีรายได้สุขาภิบาลที่โจทก์ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2524 ถึงเดือนมิถุนายน 2528 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น1,197,090.80 บาท ในแต่ละเดือนโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า(ภ.ค.40) โดยแยกแสดงรายรับไว้เป็นสองประเภท คือ 1. รายรับจากการขายหิน ซึ่งผลิตจากโรงโม่ของโจทก์เอง ที่จังหวัดสุโขทัยเสียภาษีประเภทการค้า 1(ก) ในฐานะผู้ผลิต อัตราร้อยละ 7.7หรือ 9.9 ของยอดรายรับ แล้วแต่กรณี 2. สำหรับรายรับจากการส่งหินให้แก่หน่วยงานของกรมทางหลวงในจังหวัดตาก ซึ่งโจทก์ได้ซื้อหินจากผู้อื่นส่งให้นั้น ด้วยความไม่เข้าใจข้อกฎหมายในขณะนั้น โจทก์ได้นำไปแสดงรายการเสียภาษีการค้าไว้ในประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของ ชนิด 1(ฉ) โดยคำนวณภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 2.2 หรือ 3.3 แล้วแต่กรณี แต่โจทก์ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว จึงเพียงแต่แสดงรายการให้เห็นในแบบแสดงรายการดังกล่าวเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีกรณีที่จะต้องชำระภาษีเพิ่มเติมในแต่ละเดือนอีกแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน 2528เจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าประจำจังหวัดสุโขทัย ซึ่งสังกัดและอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าจำนวน 5 ฉบับ หมายเลข 62. 37/3/00050-00054มาให้โจทก์โดยระบุเหตุผลที่ประเมินเหมือนกันทั้ง 5 ฉบับว่าผู้ประกอบการค้า (ซึ่งหมายถึงโจทก์) แสดงรายรับถูกต้องแล้วแต่คำนวณอัตราภาษีคลาดเคลื่อน โดยจะต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) ในฐานะผู้ผลิต อัตราภาษีร้อยละ 7.7 หรือ 9.9 แล้วแต่กรณี จึงต้องรับผิดชำระภาษีการค้าเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1 หรือ 1.5 ต่อเดือนแล้วแต่กรณีรวมยอดจำนวนเงินภาษีตามแบบแจ้งการประเมิน 5 ฉบับ ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน 2524 ถึงเดือนมิถุนายน 2528 เป็นเงินภาษีที่จะต้องเสียทั้งสิ้น 2,703,715 บาท เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2528โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ผ่านสรรพากรจังหวัดสุโขทัย โดยชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ได้ร่วมกันพิจารณาและวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวโดยให้เหตุผลไว้ใน ข้อ (2) แห่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในทำนองเดียวกันทั้ง 5 ฉบับว่า “ตามหลักฐานและข้อเท็จจริง บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตหินจำหน่าย บริษัทฯ มีหลักฐานแสดงการซื้อหินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลาจำเรียง ไปส่งมอบให้แขวงการทางตากและศูนย์เครื่องมือกลตากบางส่วน ตามสัญญาจ้างซึ่งบริษัทจะต้องเสียภาษีการค้าประเภท 4 ชนิด 1(ฉ) การรับจ้างทำของอย่างอื่นแต่เจ้าพนักงานประเมินนำรายรับตามกล่าวมาประเมินเรียกเก็บในฐานะผู้ผลิตจึงไม่ถูกต้อง เมื่อปรับปรุงรายการคำนวณใหม่แล้วบริษัทฯ จะต้องชำระภาษีตามกล่าวข้างต้น” ซึ่งรวมแล้วโจทก์จะต้องชำระภาษีทั้ง 5 รายการ เป็นเงิน 1,805,735 บาทโจทก์ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่31 มีนาคม 2531 เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้องโจทก์ได้ชำระภาษีดังกล่าวโดยถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายถูกต้องครบถ้วนแล้วไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมอีก ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า เลขที่ 237/3/00050, เลขที่ 62. 37/3/00051, เลขที่ 62. 37/3/0052,เลขที่ 62. 37/3/0053, เลขที่ 62. 37/3/00054 ลงวันที่ 15 กันยายน 2528 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบ ภ.ศ.7 เลขที่ 1/2531, เลขที่ 2/2531, เลขที่ 3/2531,เลขที่ 4/2531 และเลขที่ 5/2531 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2531
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การและจำเลยที่ 2 ให้การในทำนองเดียวกันว่า การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรอันประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ได้ร่วมกันวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเงินเพิ่มภาษีการค้าและรายได้สุขาภิบาล สำหรับรายรับของโจทก์ในปี พ.ศ. 2524-2528 ตามรายละเอียดในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11-15นั้น เป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งจำนวนภาษีการค้าระหว่างปี 2524-2528 ให้โจทก์ทราบโจทก์โดยนายประสิทธิ์ จิตจำนงค์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระภาษีการค้าตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งให้ทราบปรากฏตามภาพถ่ายบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีอากร ลงวันที่5 กันยายน 2528 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 เมื่อโจทก์ตกลงยินยอมชำระภาษีการค้าเช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และไม่มีสิทธิที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมิน
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า เลขที่62. 37/3/00050, เลขที่ 62. 37/3/00051, เลขที่ 62. 37/3/00052,เลขที่ 62. 37/3/00053 และเลขที่ 62. 37/3/00054 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบ ภ.ส.7เลขที่ 1/2531 เลขที่ 2/2531 เลขที่ 3/2531 เลขที่ 4/2531 และเลขที่ 5/2531 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2531 เป็นว่า ให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมทั้งเงินเพิ่มเฉพาะจากรายรับจำนวน 23,665,217.25 บาท ในฐานะผู้ผลิตตามประเภทการค้า 1การขายของชนิด 1(ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรอัตราภาษีร้อยละ 7.7 และ 9.9 ของรายรับแล้วแต่กรณี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ในประเด็นข้อแรกนั้นข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในเบื้องต้นมีว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าประจำเดือนต่อสรรพากรอำเภอบ้านด่านลานหอย แสดงรายรับของโจทก์ประจำปี 2524 ถึง 2528 สำหรับกรณีที่เป็นปัญหานี้โจทก์ได้แสดงการรับไว้รวม 37,141,406 บาท อันเป็นรายรับจากการที่โจทก์ส่งหินให้หน่วยงานของกรมทางหลวงที่จังหวัดตากตามสัญญาจ้างเหมาย่อยหิน เอกสารหมาย จ.1 ถึงจ.71 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2527 สรรพากรจังหวัดสุโขทัยได้มีหนังสือเชิญกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไปพบเพื่อทราบข้อความบางอย่างอันเกี่ยวกับการเสียภาษีการค้าของโจทก์เนื่องจากมีเหตุเชื่อว่าโจทก์เสียภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้อง โจทก์ได้มอบให้นายประพันธ์ มณีการณ์ ไปพบและให้ถ้อยคำเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ และหารือกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 แล้วเห็นว่า รายรับที่โจทก์ได้รับจากการส่งหินให้กรมทางหลวงนั้น โจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้อง กล่าวคือ รายรับดังกล่าวต้องเสียภาษีการค้าประเภท 1 การขายของ ชนิด 1(ก) อัตราภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นร้อยละ 7.7 และ 9.9 แล้วแต่กรณีแต่โจทก์เสียไว้ในประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของ ชนิด 1(ฉ)อัตราภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่น ร้อยละ 2.2 และ 3.3แล้วแต่กรณี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจังหวัดสุโขทัยจึงคำนวณให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นอัตราร้อยละ 7.7และ 9.9 แล้วแต่กรณี และเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2528 ได้เรียกโจทก์มารับทราบผลการตรวจสอบ โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายประสิทธิ์ จิตจำนงค์ มาแทน เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีได้บันทึกถ้อยคำและบันทึกคำยินยอมของนายประสิทธิ์ไว้ต่อหน้าผู้ช่วยสรรพากรจังหวัดตามเอกสาร ล.3 แผ่นที่ 38 และ 39โดยนายประสิทธิ์รับทราบว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 1 การขายของ ชนิด 1(ก) ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าพร้อมเงินเพิ่มเป็นเงิน 2,703,715 บาท และต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2528 เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งแบบแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มเติมพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามจำนวนที่เจ้าพนักงานตรวจสอบได้คำนวณไว้และที่นายประสิทธิ์ได้ยินยอมชำระแล้ว โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำวินิจฉัยว่า สำหรับค่าซื้อหินซึ่งโจทก์มีใบเสร็จรับเงินว่าได้ซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลาจำเรียงโจทก์ต้องเสียภาษีในประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของชนิด 1(ฉ)ส่วนรายรับที่เหลือต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) พร้อมทั้งเงินเพิ่ม จึงแก้เป็นให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มเติมรวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงิน 1,805,735 บาทและในใบมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบให้นายประสิทธิ์ไปพบเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อทราบผลการตรวจสอบ ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่น 35 นั้น มีข้อความว่า “มาชี้แจงให้ถ้อยคำและตอบข้อซักถามของเจ้าพนักงานตรวจภาษีอากรเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากร ตลอดจนให้ถ้อยคำยินยอม หรือปฏิเสธการรับผิดชอบที่จะเสียภาษีอากรใด ๆแทนบริษัทฯ จนเสร็จการ” และคำให้การของนายประสิทธิ์ที่ให้การต่อนายสุธีระ จันทร์พุฒ ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมิน โดยนายวีระพล ฉัตรกริช เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีเป็นผู้บันทึกตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 36-38 ปรากฏเป็นใจความว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีได้แจ้งให้นายประสิทธิ์ทราบว่า โจทก์แสดงรายการการค้าไม่ถูกต้อง ที่ถูกจะต้องเสียภาษีในฐานะผู้ผลิตซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าเพิ่มเติมพร้อมทั้งเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 2,703,717.54 บาท นายประสิทธิ์รับทราบคำชี้แจงแล้ว ยอมรับว่าบริษัทโจทก์เสียภาษีการค้าไม่ถูกต้องยินยอมชำระภาษีการค้าส่วนที่ขาดเพิ่มเติมโดยไม่ขอโต้แย้งหรืออุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น และมีบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าวในเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 39 อีกด้วยโดยนายประสิทธิ์ลงชื่อผู้ให้คำยินยอมไว้เช่นนี้ เห็นว่าเป็นการที่นายประสิทธิ์ได้ยอมรับว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มและเงินเพิ่มถูกต้องแล้ว โจทก์จะโต้เถียงว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเพิ่มรวมตลอดถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5ว่าไม่ชอบนั้นย่อมไม่ได้ สิทธิฟ้องคดีของโจทก์ระงับไปแล้วเพราะการกระทำของนายประสิทธิ์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องเสียภาษีการค้าและเงินเพิ่มตามจำนวน2,703,717.54 บาท ตามที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1เรียกเก็บเพิ่มขึ้น ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อต่อไป แต่จำเลยทั้งสี่ต่อสู้คดีและอุทธรณ์เพียงว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีการค้าจำนวน 1,805,735 บาท ชอบแล้วจึงไม่อาจจะให้โจทก์ชำระภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินได้ คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share