คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681-2683/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มติคณะรัฐมนตรีที่ยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลย อันมีผลทำให้สภาพการจ้างเดิมในเรื่องดังกล่าวยังคงใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น มิได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จำเลยจึงสามารถดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานได้ ไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายเงินโบนัส มิได้เกิดจากข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้าง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างไปจากเดิมได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างต้องจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ นายจ้างสามารถออกประกาศเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินโบนัส 145,283.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 126,960 บาท ค่าชดเชยพิเศษ 81,306.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 79,350 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,309,275 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงินโบนัส 157,656.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 137,280 บาท ค่าชดเชยพิเศษ 70,586.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 68,640 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,415,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 2 และชำระเงินโบนัส 221,079.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 190,170 บาท ค่าชดเชยพิเศษ 217,291.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 211,300 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,743,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 3
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า… การที่จำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัส โดยออกประกาศที่ 41/0113 ระงับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานประจำปี 2541 ในขณะที่จำเลยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากถูกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเข้าแทรกแซงถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบนั้น ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีซึ่งยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเพียงแต่ยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลย อันมีผลทำให้สภาพการจ้างเดิมในเรื่องดังกล่าวยังคงใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้นมิได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จำเลยจึงสามารถดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานได้ ไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการที่สอง การที่จำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัส โดยออกประกาศที่ส.บค. 1.0188/2542 ระงับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานประจำปี 2542 ในขณะที่จำเลยมีฐานะเป็นธนาคารเอกชน เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่อง การจ่ายเงินโบนัส มิได้เกิดจากข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้าง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างไปจากข้อตกลงเดิมได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างจะต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจำเลยสามารถออกประกาศเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัส ไม่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share