แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ช. ผู้ร้องเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) จึงไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289, 340, 340 ตรี, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11พ.ศ. 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7, ริบของกลาง คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายชุมพล เมฆรา ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 340, 340 ตรี, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 การกระทำของจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นและปล้นทรัพย์เป็นกรรมเดียวให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยใช้อาวุธปืนและยานพาหนะ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ จำคุก 6เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้หนึ่งในสาม รวมทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตของกลางริบ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 105,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่สมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในเบื้องต้นมีว่า นายชุมพล เมฆรา ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 30 หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะร้องขอเข้ารวมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ก็คือผู้เสียหาย แต่ตามคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และเอกสารท้ายคำร้องเห็นได้ว่าผู้ร้องเป็นเพียงน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางบัวใส พันธุสา ผู้ตาย ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้เสียหายตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่ถูกต้อง ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้ร้อง”
พิพากษายืน.