คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์โดยนำบ้านมาเป็นประกันเงินกู้ และจำเลยที่ 1 รับรองในสัญญากู้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นของตน โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบเงินกู้ให้จำเลยที่ 1 ไป ดังนี้ ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร เพื่อที่จะแสดงให้เข้าใจได้ว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงโจทก์ตรงไหน และที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับรองต่อโจทก์ว่าจะไม่โอนบ้านให้ผู้อื่นจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนก็เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งเป็นเพียงจำเลยที่ 1 ให้คำรับรองไว้ต่อโจทก์เท่านั้น หาเข้าลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงไม่
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบ้านที่จำเลยที่ 1 นำมาระบุไว้เป็นประกันในการกู้เงินจากโจทก์มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยมิได้รับขำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
(วรรคแรก วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า
ข้อ ๑. เดิมจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญากู้และรับเงินไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ ๑ ได้นำบ้านหลังหนึ่งมาเป็นประกัน และเขียนรับรองในสัญญากู้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นของตน โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบเงินกู้ให้จำเลยที่ ๑ ไป จนบัดนี้จำเลยที่ ๑ ยังมิได้ชำระหนี้คืน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดคือ
ข้อ ๒. ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญา ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา ยกบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยเสน่หา ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมด ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้ชำระหนี้ ณ ศาลจังหวัดนครราชสีมาแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันกระทำเพื่อให้โจทก์เสียหาย
ข้อ ๓. การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวเป็นไปโดยทุจริต และเป็นการหลอกลวงโจทก์ โดยปกติข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้โจทก์แจ้งว่าจำเลยที่ ๑ ตั้งใจจะทำหนังสือยกบ้านให้จำเลยที่ ๒ ในภายหลังตามฟ้องข้อ ๒ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๑ รับรองต่อโจทก์ว่าในระหว่างที่ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่นั่นจะไม่จำหน่ายหรือโอนบ้านที่ประกันให้ผู้ใด โดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีเจตนาจะฉ้อโกงโจทก์มาแต่เริ่มแรกแล้วได้เงินไปจากโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๙, ๓๕๐, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล มีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะที่จำเลยที่ ๑ ได้นำบ้านไปประกันเงินกู้ บ้านดังกล่าวมีหลักฐานทางทะเบียนเป็นของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ระบุในสัญญากู้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นของตนนั้น จึงไม่เป็นการหลอกลวงโจทก์ด้วยการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง อนึ่ง การที่จำเลยที่ ๑ รับรองต่อโจทก์ว่าจะไม่โอนบ้านให้ผู้อื่นจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแต่จำเลยที่ ๑ ได้โอนบ้านให้จำเลยที่ ๒ ในภายหลังนั้น ก็เป็นเพียงการให้สัญญาไว้แล้วไม่ปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่เป็นการหลอกลวง แสดงข้อเท็จจริงหรือปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์มอบเงินแก่จำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงเช่นกัน ส่วนในข้อหาความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เป็นคนยากจน ได้อยู่บ้านที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรเขยปลูกขึ้น การที่จำเลยที่ ๑ นำเอาบ้นนั้นไปจดทะเบียนว่าเป็นของตนเพื่อสะดวกแก่การที่บุตรเขยจำเลยมอบให้จำเลยที่ ๑ ไปขอเลขบ้าน เมื่อจำเลยที่ ๒ ต้องการบ้านคืนจำเลยที่ ๑ ก็ได้โอนคืนให้เช่นนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงก่อนว่าตามคำบรรยายฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในข้อ ๑ และ ข้อ ๓ เมื่ออ่านประกอบกันแล้ว คำฟ้องของโจทก์บรรยายแต่เพียงว่า จำเลยที่ ๑ รับรองว่าบ้านเป็นของตนและโจทก์หลงเชื่อโดยมิได้บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร เพื่อที่จะแสดงให้เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ตรงไหน และที่จำเลยที่ ๑ โอนบ้านให้แก่จำเลยที่ ๒ แต่ปกปิดไม่ให้โจทก์รู้นั้น ก็เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งเป็นเพียงจำเลยที่ ๑ ให้คำรับรองไว้ต่อโจทก์เท่านั้น หาเข้าลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงไม่
ส่วนในข้อหาความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบ้านที่จำเลยที่ ๑ นำมาระบุไว้เป็นประกันในการกู้เงินจากโจทก์มิใช่เป็นของจำเลยที่ ๑ ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๑ โอนบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยมิได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
พิพากษายืน

Share