แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กู้ณี่,สัญญาประกัน เจ้าณี่ยอมรับนายประกันใหม่ ความรับผิดชอบของนายประกันเดิม
ย่อยาว
จ.กู้เงินไปจาก ญ. ช.เปนนายประกัน จ. ไม่ใช้เงิน ญ. จึงฟ้อง ช.
ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯตัดสินให้ ช. ใช้เงินให้ ญ. ช. ฎีกาว่า
๑. ฯลฯ
๒. จ.ล้มละลาย ญ. ไม่ได้พิศูจน์ณี่
๓. ญ. ให้ จ. พา พ. มาทำสัญญารับประกันณี่รายนี้ใหม่ สัญญาฉบับหลังมีสินจ้างทำระหว่าง ญ. จ. แล พ. แลทำให้ จ. ได้รับผลผ่อนเวลาใช้ณี่ออกไปเปนการเสียหายแก่ ช.
ศาลฎีกาเห็นว่า
๑. ฯลฯ
๒. ศาลฎีกาได้ตัดสินเปนบันทัดฐานแล้วว่าเจ้าณี่ฟ้องเรียกณี่จากนายประกันได้ทีเดียว ไม่จำเปนต้องรอเรียกจากลูกณี่ก่อน แลนายประกันอาจพิศูจน์ณี่ได้ แม้นายประกันจะยังไม่ได้ใช้ณี่ก็ตาม ( ฎีกาที่ ๑๔๖ แล ๔๔๖ พ.ศ. ๒๔๖๖ )
๓. ปรากฏว่า เดิม ช. ได้ทำสัญญารับประกันณี่ จ. ให้ไว้ต่อ ญ. ภายหลัง จ. ได้พา พ. มาทำสัญญารับประกันณี่ต่อ ญ. มีข้อความว่า ” บัดนี้โจทย์เตือนจะเร่งเงินรายนี้ นายจีฉ่องยังส่ง ( เงินให้ ) ไม่ได้ นายจีฉ่องขอผัดต่อไป โดยขอให้นางพันเปนประกันต้นเงินแลดอกเบี้ยรายนี้ ฯลฯ ฝ่ายโจทย์จึงตกลงยอมผ่อนเวลาให้นายจีฉ่องต่อไป ” ต่อมา ช. ได้มีจดหมายถึง ญ. ๒ ฉบับ ๆ หนึ่ง ” ขอให้โจทย์จัดการฟ้องนายจีฉ่องภายใน ๓ วันถ้าหากเนิ่นช้าไปจำเลยจะลำบาก จำเลยจะไม่รับรู้ด้วย ” อีกฉบับหนึ่งว่า ” ขอให้โจทย์ยึดทรัพย์ของนายจีฉ่องก่อนฟ้องจะดี เพราะจำเลยเข้าใจว่านายจีฉ่องกำลังยักยอกทรัพย์ออกจากบ้าน ” ญ.ไม่ตอบ ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาที่ พ. ทำให้ ญ. เปนสัญญามีสินจ้าง คือ จ. ได้รับผัดผ่อนเวลาใช้ณี่ กฎหมายลักษณประกันณี่สินมีหลักอยู่ว่าถ้าเจ้าณี่ทำสัญญากับลูกณี่ยอมผ่อนเวลาใช้ณี่ให้แก่ลูกณี่ โดยนายประกันมิได้ยินยอมด้วยไชร้ นายประกันหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ เรื่องนี้ ญ. ไม่ได้ทำสัญญากับ จ. แต่ได้ทำสัญญากับ พ. ซึ่งเปนบุคคลภายนอก จ. เปนพยานเท่านั้น ตามกฎหมายจึงจะถือว่า ช. หลุดพ้นจากความรับผิดชอบโดยเหตุนี้ยังไม่ได้ หลักกฎหมายยังมีอีกว่าถ้าเจ้าณี่รับถือเอาประกันใหม่จากลูกณี่เมื่อใดย่อมมีผลเหมือนหนึ่งว่าเจ้าณี่ได้ผ่อนเวลาให้ลูกณี่เมื่อนั้น เรื่องนี้ถึงเวลาลูกณี่ไม่ใช้ ญ. ย่อมให้ผัดโดยรับ พ.เป็นนายประกันโดยมิได้บอกให้ ช.ทราบแลเมื่อ ช.ได้มีจดหมายถึง ญ. ขอให้จัดการณี่รายนี้ ญ. มิได้จัดการอย่างใดซึ่งแสดงว่า ญ. ไม่หวังหลักฐานในการประกันของ ช. แล้วแลหวังหลักฐานในการประกันของ พ. ศาลฎีกาเห็นว่า ญ. ฟ้อง ช. ไม่ได้ เพราะกิริยาของ ญ. แสดงว่าปล่อยความรับผิดชอบของ ช. เสียแล้วให้ยกฟ้อง ญ.