คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการกำหนดให้เสนอข้อพิพาททางแพ่งให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด หากคู่สัญญาฝ่ายใดนำคดีมาฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเสียก่อนตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องก็อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยาน หรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีได้ แต่คดีนี้คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ อ้างว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการ โดยมิได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลแต่อย่างใด ทั้งมิได้โต้แย้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ทำการไต่สวนให้ปรากฏว่า กรณีมีสัญญาระงับข้อพิพาทอยู่หรือไม่ แต่กลับต่อสู้คดีตามประเด็นที่โจทก์ฟ้องตลอดมา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 3 หาได้ประสงค์จะขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน64,326 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 61,446 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฝ-1169 กรุงเทพมหานคร ฝ่ายเดียวหรือมีส่วนประมาทในครั้งนี้ด้วย จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างดี เมื่อขับมาถึงที่เกิดเหตุสี่แยกสนามจันทร์ขณะนั้นไฟจราจรสีแดงให้รถจำเลยที่ 1 หยุด จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร ผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฝ-1169 กรุงเทพมหานคร แล่นตามหลังมาในทิศทางเดียวกันด้วยความเร็วสูงปราศจากความระมัดระวัง ไม่ชะลอความเร็วและหยุดรถตามที่จำเลยที่ 1 ขับ กลับเร่งความเร็วด้วยความประมาท เป็นเหตุให้พุ่งชนท้ายรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับอย่างแรง รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฝ-1169 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ค่าซ่อมแซมไม่เกิน 30,000 บาท จำเลยที่ 3 รับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 89-5164 นครปฐม ไว้จากจำเลยที่ 2 จริง แต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด โจทก์และจำเลยที่ 3 มีสัญญาระงับข้อพิพาทกันโดยนำเสนอเรื่องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 26 สิงหาคม 2539) ต้องไม่เกิน2,880 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,500 บาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว คดีคงมีปัญหาตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3 ประการเดียวว่า โจทก์กับจำเลยที่ 3 มีสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในกรณีที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการกำหนดให้เสนอข้อพิพาททางแพ่งให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด หากคู่สัญญาฝ่ายใดนำคดีมาฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเสียก่อนตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องก็อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยาน หรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีได้ แต่คดีนี้คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ อ้างว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการ และมีนายสง่า ฮิมสกุล ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 3 เบิกความเพียงว่าเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนย่อมทำให้คดีระงับ แต่จำเลยที่ 3 มิได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลให้เห็นว่า กรณีมีสัญญาระงับข้อพิพาทอยู่จริงดังอ้าง ทั้งมิได้โต้แย้ง การที่ศาลชั้นต้นไม่ทำการไต่สวนให้ปรากฏว่ากรณีมีสัญญาระงับข้อพิพาทอยู่หรือไม่ แต่กลับต่อสู้คดีตามประเด็นที่โจทก์ฟ้องตลอดมาโดยมิได้ส่งอ้างหนังสือสัญญาการระงับข้อพิพาทต่อศาลเพื่อขอให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 3 เพิ่งจะส่งสำเนาสัญญาการระงับข้อพิพาทต่อศาลในชั้นยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 3 หาได้ประสงค์จะขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 ไม่นำสืบให้เห็นว่ากรณีมีสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ อันจะทำให้โจทก์ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share