แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วสูง เมื่อเฉี่ยวชนท้ายรถคันหนึ่งแล้วก็ไม่สามารถหยุดได้ทันท่วงทีก่อนที่จะแล่นไปไปชนท้ายรถโจทก์ ซึ่งอยู่ห่างจุดที่รถเฉี่ยวชนประมาณ 25 เมตร กรณีเป็นเรื่องที่อาจป้องกันได้ถ้าจำเลยไม่ขับรถเร็วจนเกินไป ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 8 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม มาตรา 437
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าก่อนรถยนต์จำเลยชนท้ายรถยนต์โจทก์ รถจำเลยได้เฉี่ยวชนท้ายรถยนต์นายบักกุ้ง แซ่ลี ก่อนคดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า การที่รถยนต์จำเลยชนท้ายรถยนต์โจทก์ เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวแล้ว เห็นว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่า นายบักกุ้งขับรถบรรทุกแซงรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิดกับขณะที่กำลังจะสวนกับรถจำเลย รถนายบักกุ้งล้ำเข้ามาในเส้นทางของจำเลย เมื่อแซงพ้นคันที่ตนแซงแล้ว นายบักกุ้งได้ขับรถเลี้ยวเข้าเส้นทางของตนแต่ท้ายรถยังไม่พ้น รถจำเลยจึงได้เฉี่ยวชนท้ายรถนายบักกุ้งแล้วแล่นไปชนท้ายรถโจทก์ ดังที่จำเลยนำสืบก็ตาม แต่ก็ปรากฏในแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยนำชี้ว่า หลังจากรถจำเลยเฉี่ยวชนท้ายรถนายบักกุ้งแล้ว จำเลยได้ขับรถเลี้ยวไปทางซ้ายอีก 9.20 เมตร ล้อรถด้านซ้ายของรถจำเลยทั้งล้อหน้าและล้อหลังได้ปืนขึ้นไปบนทางเท้าซึ่งสูงกว่าพื้นถนนตามคำเบิกความของจำเลยว่าประมาณ 8 นิ้วฟุต แล้วมีรอยครูดไปกับพื้นถนนและทางเท้าเป็นทางยาว 16.50 เมตร 2 เส้นขนานกันน่าเชื่อว่าเกิดจากการที่จำเลยห้ามล้อรถ แล้วรถของจำเลยไปจอดอยู่หน้ารถติดกับเสาไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่ริมทางเท้าติดกับขอบถนน และเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายรอยบุบและชำรุดของท้ายรถโจทก์กับหน้ารถจำเลยในสำนวนการสอบสวนซึ่งส่งมาจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีแล้วเห็นว่า รอยบุบและชำรุดที่เกิดจากการชนกันนี้มิใช่เล็กน้อย แสดงว่ารถของจำเลยแล่นมาชนท้ายรถโจทก์โดยแรง พฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุผลเชื่อว่า จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วสูงจนกระทั่งเมื่อเฉี่ยวชนท้ายรถนายบักกุ้งแล้ว จำเลยก็ไม่สามารถหยุดได้ทันท่วงทีก่อนที่จะแล่นไปชนท้ายรถโจทก์ ซึ่งโจทก์อยู่ห่างจุดที่รถจำเลยเฉี่ยวชนรถนายบักกุ้งถึงประมาณ 25 เมตร กรณีเป็นเรื่องอาจป้องกันได้ ถ้าจำเลยไม่ขับรถเร็วจนเกินไป เหตุที่รถจำเลยไปชนท้ายรถโจทก์ เพราะจำเลยขับรถมาด้วยความเร็วสูง ถือไม่ได้ว่า เกิดจากเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437” ฯลฯ
“พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 27,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์เสร็จ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาทแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้เพียงเท่าที่โจทก์ชนะ”