คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานขายสินค้าและเก็บเงินประจำสาขาบริษัทไปทำสัญญาเช่าซื้อกับลูกค้าตามหน้าที่และคำสั่งของผู้จัดการสาขา การทำงานให้นายจ้างเสร็จสิ้นแล้ว ขณะเดินทางกลับบ้านถูกรถยนต์เฉี่ยวรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับมาล้มลง โจทก์ได้รับอันตรายแก่กาย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง สำนักงานกองทุนเงินทดแทนไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้จำเลยที่ 1 โดยสำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนแก่โจทก์ 52,202 บาท 18 สตางค์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ได้ความในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่ขายสินค้าและเก็บเงินประจำสาขาปทุมวัน ซึ่งตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร มีนายสุรศักดิ์ ลีลาเชษฐวงศ์ เป็นผู้จัดการสาขา วันที่15 กรกฎาคม 2520 ตอนเช้า โจทก์กับนายสุรศักดิ์นำตู้เย็น 2 ตู้ไปส่งให้ลูกค้า 2 ราย คือ นายบุญช่วย ขุนนุช และนายทวี สวัสดิ์ถาวร ที่ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ แต่ไม่พบนายบุญช่วยและนายทวี คงพบแต่ภริยาของบุคคลทั้งสอง โจทก์และนายสุรศักดิ์ได้มอบตู้เย็นไว้และนัดไปทำสัญญาเช่าซื้อในเวลา 18.00 นาฬิกาวันเดียวกัน แล้วโจทก์กับนายสุรศักดิ์ก็กลับไปที่สำนักงานสาขาตอนเย็นโจทก์ออกไปจากสำนักงานเพื่อไปเก็บเงินจากลูกค้าที่หลังโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร นายสุรศักดิ์ได้สั่งให้ไปทำสัญญาเช่าซื้อรายนายบุญช่วยและนายทวีด้วย โจทก์ไปเก็บเงินจากลูกค้าแล้วก็ขับรถจักรยานยนต์ส่วนตัวไปที่บ้านของนายบุญช่วยและนายทวี ไปถึงเมื่อเวลา 17.00 นาฬิกาเศษ ได้ทำสัญญากับบุคคลทั้งสองเสร็จเมื่อเวลา 18 นาฬิกาเศษ หลังจากนั้นโจทก์ก็ขับรถจักรยานยนต์กลับ ครั้นมาถึงหน้าซอยแบริ่งเป็นเวลาประมาณ 19.00 นาฬิกา ได้มีรถยนต์กระบะแล่นออกมาจากซอยเฉี่ยวรถจักรยานยนต์ของโจทก์ล้มลง โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายรักษาในโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 10 วัน มีปัญหาว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันพึงได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนหรือไม่” ฯลฯ

“ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 ที่ว่าเกิดเหตุขณะโจทก์ขับรถเพื่อจะกลับบ้าน ถูกต้องตรงตามความจริงโจทก์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับลูกค้าตามหน้าที่และตามคำสั่งของผู้จัดการสาขาโจทก์ทำสัญญาเสร็จแล้ว ขณะเดินทางกลับบ้านได้ถูกรถยนต์เฉี่ยวรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับมาล้มลง โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายดังนี้ การทำงานให้แก่นายจ้างเสร็จสิ้นแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง”

พิพากษายืน

Share