คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามคำให้การสอบสวนของส. หัวหน้าแผนกสินเชื่อของเจ้าหนี้กับคำให้การของว. กรรมการบริษัทลูกหนี้ในสำนวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินและได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยคดีคำขอรับชำระหนี้นี้ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้จะอยู่คนละสำนวนสาขาแต่ก็เป็นสำนวนคดีล้มละลายเดียวกันเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้สิทธิโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา107ก็ย่อมมีอำนาจนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในประเด็นคำขอรับชำระหนี้มาพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อศาลซึ่งเป็นการสอบสวนชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิใช่เป็นการสืบพยานโดยอาศัยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งศาลย่อมรับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนโดยเจ้าหนี้ไม่มีโอกาสซักค้านพยาน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2529 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2530 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวนเงิน 74,750,368.16 บาท ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้และเอกสารที่เจ้าหนี้อ้างส่ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า สัญญากู้เงินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้กระทำขึ้นโดยไม่สุจริต น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นทั้ง ๆ ที่รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเป็นหนี้ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(2) เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
เจ้าหนี้ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกหนี้เป็นลูกค้าของเจ้าหนี้ โดยเปิดบัญชีกระแสรายวันเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2519 ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2519ลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 20,000,000 บาท โดยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3253, 5294 และ 5817 และเลขที่ 2441, 2629 กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 111 ให้เจ้าหนี้ยึดถือเป็นประกัน ซึ่งปัจจุบันไม่มีหนี้ที่เบิกเกินบัญชีและเมื่อวันที่30 เมษายน 2527 ลูกหนี้ทำสัญญากู้เงินจากเจ้าหนี้จำนวน62,500,000 บาท โดยให้เจ้าหนี้ยึดถือที่ดินเดิมทั้งหกแปลงเป็นหลักประกันเช่นเดิม ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบพบจึงแจ้งให้เจ้าหนี้ดำเนินการให้ลูกหนี้จดทะเบียนจำนองที่ดินหลักประกันทั้งหกแปลง ลูกหนี้ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้และมียอดหนี้ที่ขอรับชำระหนี้จำนวน74,750,368.16 บาท
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ประกอบกับพยานหลักฐานทั้งปวงแห่งคดีแล้วฟังว่าจากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับได้ว่าเป็นสิ่งผิดปกติอย่างยิ่งในการที่เจ้าหนี้ยินยอมให้ลูกหนี้กู้เงินเป็นจำนวนมากโดยไม่มีหลักประกันที่สมบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่ต้น และตามคำให้การสอบสวนของนายสุนทร สิทธิวิชชาพร หัวหน้าแผนกสินเชื่อของเจ้าหนี้กับคำให้การของนายวิศิษฐ์ ธนาธิป กรรมการบริษัทลูกหนี้ในสำนวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าวและได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยคดีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ แม้คำให้การของบุคคลทั้งสองจะอยู่คนละสำนวนสาขา แต่ก็เป็นสำนวนคดีล้มละลายเดียวกัน เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้สิทธิโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107 ก็ย่อมมีอำนาจนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในประเด็นของคำขอรับชำระหนี้มาพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อศาลซึ่งเป็นการสอบสวนชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มิใช่เป็นการสืบพยานโดยอาศัยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลย่อมรับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีได้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนโดยเจ้าหนี้ไม่มีโอกาสซักค้านพยานดังกล่าวดังฎีกาของเจ้าหนี้ปรากฏว่านายสุนทรให้การยอมรับว่าสำนักงานของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และสาขาที่ทำการของโจทก์อยู่ในอาคารเดียวกันคือเลขที่ 149 ถนนเสือป่าเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ขณะที่ลูกหนี้ทำสัญญากู้เงินจำนวน 62,500,000 บาท ลูกหนี้มีฐานะไม่ดีนัก ส่วนนายวิศิษฐ์ให้การว่า ลูกหนี้ไม่เคยประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้ ทรัพย์สินของลูกหนี้มีเพียงที่ดิน 6 แปลง ดังกล่าวซึ่งลูกหนี้ก็ไม่เคยทำประโยชน์ การชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีก็ใช้วิธียืมเงินจากหลายแห่งมาหมุนเวียนชำระหนี้ เจ้าหนี้น่าจะทราบข้อเท็จจริงที่ลูกหนี้มิได้ประกอบกิจการ แต่ที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้เงินจำนวนมาก โดยลูกหนี้มิได้เสนอโครงการที่จะกระทำให้เจ้าหนี้ตรวจสอบเสียก่อนเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะให้กู้เงินหรือไม่ก็เพราะกลุ่มบริหารของเจ้าหนี้ โจทก์และลุกหนี้เป็นกลุ่มผู้บริหารเดียวกัน ดังนี้จะเห็นได้ว่านายสุนทรและนายวิศิษฐ์ต่างเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ย่อมมีโอกาสรู้เห็นและทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ คำให้การของบุคคลทั้งสองในสำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างเป็นพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงในการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ จึงมีน้ำหนักในการรับฟังว่า ลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ การที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กู้เงินเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2527 น่าเชื่อว่าได้กระทำโดยรู้แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเป็นหนี้ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share