แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ลูกจ้างของโจทก์ต้องเสียชีวิต เพราะการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลยนั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ต้องขาดแรงงาน เพราะเมื่อลูกจ้างโจทก์เสียชีวิต การจ้างแรงงานย่อมเป็นอันเลิกกัน โจทก์ไม่ได้แรงงาน แต่ขณะเดียวกันโจทก์ก็ไม่ต้องให้สินจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านายแล สามเตี้ย ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกสิบล้อไปในทางการที่จ้างชนรถยนต์ของโจทก์โดยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายและพนักงานของโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๒ เป็นบริษัทจำกัดผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดร่วมด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารถยนต์ ๒๓๒,๐๐๐ บาท ค่าขาดแรงงานจากพนักงานโจทก์ที่เสียชีวิต ๒๕,๒๓๐ บาท และค่าทดแทนที่โจทก์ต้องจ่ายไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเป็นเงิน ๖๗๔,๗๗๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๓๒,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าเหตุละเมิดรถชนกันเกิดจากความประมาทของรถโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด รถโจทก์เป็นรถใช้แล้วราคาไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ข้อที่โจทก์อ้างว่าขาดแรงงาน ๒๕,๒๓๐ บาท และต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนอีก ๖๗๔,๗๗๐ บาท จะเป็นจริงอย่างไรจำเลยที่ ๑ ไม่ทราบหากโจทก์ได้จ่ายไปก็เป็นความผูกพันตามกฎหมายที่โจทก์จะต้องจ่ายฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าขาดแรงงานอย่างไร และจ่ายค่าทดแทนให้แก่ใครเท่าใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การและแก้ไขคำให้การมีใจความทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๑ และว่าจำเลยที่ ๒ รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลพันธ์เจริญลพบุรี ไม่ใช่จากจำเลยที่ ๑ ขณะเกิดเหตุรถคันดังกล่าวมิได้ใช้ในกิจการห้างผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของลูกจ้างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิด ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเพราะห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลพันธ์เจริญลพบุรีผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและใช้รถคันที่เอาประกันภัยพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ๒๐,๐๐๐ บาท กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖๗๔,๗๗๐ บาทที่โจทก์จ่ายให้แก่ทายาทของผู้ตายนั้น เป็นการจ่ายตามที่กฎหมายแรงงานบังคับไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารถยนต์ของโจทก์เป็นเงิน ๒๓๒,๐๐๐ บาท ค่าที่โจทก์ต้องขาดแรงงานเป็นเงิน ๒๕,๒๓๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๕๗,๒๓๐ บาท กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ๓,๐๐๐ บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ ๑ แต่รถของโจทก์ใช้งานมานาน จึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนของรถโจทก์เป็นเงินเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาท และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับค่าขาดแรงงานของโจทก์ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๕ บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” เมื่อพนักงานโจทก์เสียชีวิต การจ้างแรงงานย่อมเป็นอันเลิกกัน โจทก์ไม่ได้แรงงาน แต่ขณะเดียวกันโจทก์ก็ไม่ต้องให้สินจ้าง จึงถือไม่ได้ว่าการที่พนักงานโจทก์เสียชีวิตเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐บาท และให้ยกคำขอของโจทก์ที่เรียกค่าสินไหมทดแทนเรื่องขาดแรงงานนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ