คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์ประกอบของความผิดในส่วนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้วงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์ประกอบของความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ที่เป็นสาระสำคัญ
แม้งานออกแบบและแบบร่างชุดกระโปรงจะเป็นงานจิตรกรรม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมแล้ว งานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (7) แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีลักษณะงานและอายุแห่งการคุ้มครองแตกต่างไปจากงานจิตรกรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (1) การที่จะรู้ว่างานดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ทั้งสามได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) (2) และ 69 วรรคสอง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่โจทก์ทั้งสาม และขอให้บังคับจำเลยระงับหรือละเว้นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุดกระโปรงลายชิโนริแต่งผ้าพื้นไหมอิตาลีทุกสีของจำเลย ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 232,726 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 235,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่รับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ทำนองว่า โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว ส่วนที่โจทก์ทั้งสามจะสร้างสรรค์หรือโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดไม่ใช่องค์ประกอบของความผิด นั้น เห็นว่า องค์ประกอบของความผิดในส่วนการกระทำ ความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือกระทำการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมายและต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์ประกอบของความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น จึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ที่เป็นสาระสำคัญ โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันสร้างสรรค์รูปทรงและลวดลายผลิตภัณฑ์โดยวาดเขียนภาพรูปทรงประกอบด้วยเส้นและสีลงในกระดาษให้ปรากฏเป็นงานออกแบบและแบบร่างงานผลิตชุดกระโปรงดังกล่าวขึ้น จากนั้นได้นำงานออกแบบและแบบร่างงานผลิตไปใช้เทียบวัสดุตัดเย็บกับวัตถุดิบต่างๆ ประกอบเข้ากันเป็นผลิตภัณฑ์ชุดกระโปรงสตรีสีขาวดำตัดต่อลายสกอตชิโนริ รหัสสินค้า แอล 44 – 01 ออกจำหน่ายเป็นสินค้าของร้านโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมในงานออกแบบและแบบร่างงานผลิตชุดกระโปรงอันมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมซึ่งได้นำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่มชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมเพียงลำพัง จึงเป็นงานศิลปกรรมชนิดศิลปประยุกต์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม จำเลยกระทำละเมิดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม โดยการทำซ้ำ ดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อการค้า กล่าวคือจำเลยนำเอาตัวผลิตภัณฑ์หรือภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ชุดกระโปรงสตรีสีขาวดำตัดต่อลายสกอตชิโนริรหัสสินค้า แอล 44 – 01 ซึ่งจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออกแบบอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามมาวิเคราะห์รูปลักษณะแล้วลอกเลียนผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีคัดลอกงานออกแบบและงานแบบร่างงานผลิตของชุดกระโปรงในสาระสำคัญไปทำเป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดกระโปรงอันมีลักษณะเดียวกันโดยมิได้จัดทำงานขึ้นใหม่ จากนั้นนำงานออกแบบอันละเมิดลิขสิทธิ์ไปผลิตชุดกระโปรงลายชิโนริแต่งผ้าพื้นไหมอิตาลีนำออกจำหน่ายในราคาถูกผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในนามร้านของจำเลย จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปประยุกต์และจำเลยทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ดังกล่าว แม้งานออกแบบและแบบร่างงานชุดกระโปรงดังกล่าวจะเป็นงานจิตรกรรมแต่เมื่อโจทก์ทั้งสามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมแล้ว งานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (7) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีลักษณะงานและอายุแห่งการคุ้มครองแตกต่างไปจากงานจิตรกรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (1) การที่จะรู้ว่างานดังกล่าวยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางานโจทก์ได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แม้ตามเอกสารท้ายฟ้อง จะมีภาพของงานโจทก์ทั้งสามที่ลงโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตระบุวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ไว้ตามภาพ แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าวันที่ระบุไว้ดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ทั้งสามโฆษณางานเป็นครั้งแรกโดยนำสำเนาจำลองของงานศิลปประยุกต์ดังกล่าวออกจำหน่ายแก่สาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 หรือไม่ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสองประกอบมาตรา 27 (1) (2) ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสามในส่วนอาญานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share