คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษารวม 3 สำนวน เป็นเงิน1,400,000 บาทเศษ หนี้สำนวนที่ 1 ศาลได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วให้จำเลยผ่อนชำระแก่โจทก์เดือนละ5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัด สำนวนที่ 2 มีทรัพย์สินจำนองเป็นประกัน ราคาสูงกว่าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ประมาณ200,000 บาท จำเลยที่ 1 ยังมีร้านขายเครื่องไฟฟ้า 3 คูหา และมีที่ดินอีก 3 แปลง แม้จำเลยที่ 1 จะนำที่ดินไปจำนองประกันหนี้ไว้แก่ธนาคารอื่นก็ตาม แต่ก็มีราคาสูงเกินกว่าจำนวนหนี้ของธนาคารนั้นอยู่มากนอกจากนี้หากจำเลยที่ 1 ต้องการหลีกเลี่ยงการชำระหนี้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็สามารถกระทำได้โดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นซึ่งแยบยล สมเหตุผลดีกว่าโอนให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรเสียอีก การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงให้จำเลยที่ 2 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่จะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน1,440,053.81 บาท จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดนครราชสีมา โดยจำเลยที่ 1 โอนที่ดิน 5 แปลงของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาเพื่อหลีกเลี่ยงหรือขัดขวางการบังคับชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้อีก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 ช่วยจำเลยที่ 1 ประกอบการค้า จำเลยที่ 1 จึงโอนที่ดินพิพาททั้ง5 แปลงให้ หาใช่เพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหนี้หรือโจทก์ไม่ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แม้ติดจำนองแต่มีราคาเกินจำนวนหนี้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์รวม 3 รายการ เป็นเงิน1,400,000 บาทเศษ ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1238/2530,1639/2530 และ 1183/2531 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน2530 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2ผู้เป็นบุตรโดยเสน่หา ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่รู้ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ เห็นว่าในเรื่องหนี้และทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ที่เกี่ยวกับโจทก์นั้น โจทก์มีนายเสริมสุขมาเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 3 รายการตามลำดับดังนี้คือ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินประมาณ 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยหนี้จำนองจำนวนเงิน 800,000 บาทเศษ และหนี้เงินกู้วงเงินประมาณ300,000 บาท โดยมีรายละเอียดว่า หนี้รายการที่ 1 ศาลได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วให้จำเลยผ่อนชำระแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดหนี้รายการที่ 2 มีทรัพย์สินจำนองเป็นประกันสำหรับรายการนี้แม้โจทก์จะนำสืบว่า โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินที่จำนองเพื่อบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาขณะยึดไว้ 200,000 บาทแต่นายเสริมสุขเบิกความว่า ราคาประเมินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินในขณะยึดมักจะต่ำกว่าราคาที่ทางธนาคารประเมินตอบรับจำนอง ทรัพย์สินรายการนี้ขณะรับจำนองโจทก์ประเมินราคาจดทะเบียนจำนองไว้ 800,000 บาท และโดยปกติธนาคารจะประเมินราคาทรัพย์สินที่นำมาเป็นประกันไม่เกิน 50เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าขณะจดทะเบียนจำนอง ทรัพย์สินที่จำนองประกันหนี้รายการนี้มีราคาประมาณ 1,600,000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ประมาณ 200,000 บาท จำเลยที่ 1 ยังมีที่ดินอีก 3 แปลง อยู่ในอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาแม้จำเลยที่ 1 จะนำไปจำนองประกันหนี้ไว้แก่ธนาคารอื่นก็ตามแต่ก็มีราคาสูงเกินกว่าจำนวนหนี้ของธนาคารนั้นอยู่มาก และเมื่อมีการบังคับจำนองชำระหนี้แล้วก็น่าจะยังมีเหลือพอที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้อีก หากทรัพย์สินที่จำนองประกันหนี้รายการที่ 2 ไม่พอชำระหนี้ ที่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นหนี้บริษัทธานินทร์ จำกัด ด้วยแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขัดข้องในการชำระหนี้อย่างไรและยังได้ความจากนายเสริมสุขอีกว่า จำเลยที่ 1 มีร้านขายเครื่องไฟฟ้า 3 คูหาอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่าด้วย จึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินพอที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้นอกจากนี้หากจำเลยที่ 1 ต้องการหลีกเลี่ยงการชำระหนี้โจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ก็สามารถกระทำได้โดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นซึ่งแยบยล สมเหตุผลดีกว่าโอนให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรเสียอีกที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงให้จำเลยที่ 2 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่จะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการโอนไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share