คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเคยสั่งจำหน่ายคดีผู้ร้องเพราะเหตุทิ้งคำร้องไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานผู้ร้องในวันนัดสืบพยานผู้ร้องทนายความผู้ร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าผู้ร้องไปอบรมราชการที่กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ผู้ร้องขอลาหยุดราชการต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อมาศาลแล้วแต่ไม่มาโดยไม่มีพยานอื่นมาสืบ ตามพฤติการณ์แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้เอาใจใส่การดำเนินคดีมีลักษณะประวิงคดีให้ชักช้า เพื่อมิให้ทรัพย์ที่ถูกยึดถูกนำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์จึงเป็นกรณีไม่มีเหตุจำเป็นในการขอเลื่อนคดี แม้เป็นการขอเลื่อนคดีครั้งแรกก็ไม่สมควรให้เลื่อนคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 วรรคแรก

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโจทก์นำยึดบ้าน อ้างว่าเป็นของจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โจทก์ให้การว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นเคยสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องไปแล้วแต่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นจึงนัดสืบพยานผู้ร้อง แต่ในวันนัดสืบพยานผู้ร้อง ทนายความผู้ร้องขอเลื่อนศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและผู้ร้องไม่มีพยานมาศาล ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ จึงฟังไม่ได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของผู้ร้อง พิพากษาให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามฎีกาของผู้ร้องไม่ตรงกับคำร้องขอเลื่อนของทนายความผู้ร้องที่อ้างว่า ผู้ร้องติดการอบรมราชการที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะตามคำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ร้องยังได้แนบหนังสือใบลากิจลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2531ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาว่าขออนุญาตลาหยุดราชการในวันที่ 9 พฤศจิกายน2531 เพื่อเดินทางไปธุระที่ศาลชั้นต้น อันเป็นการยืนยันว่าข้อความในหนังสือของนายยงยุทธ์ รักษาราชการแทนครูใหญ่โรงเรียนบ้านนาแพง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผู้ร้องรับราชการอยู่เป็นความจริงกรณีฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้ไปอบรมราชการที่กรุงเทพมหานคร แต่ได้ลาราชการเพื่อมาศาลในวันนัดสืบพยานผู้ร้อง แต่ผู้ร้องไม่ได้มาศาลตามกำหนดนัด ที่ผู้ร้องอ้างว่ามาศาลไม่ทันกำหนดนัดเพราะคนขับรถยนต์โดยสารประจำทางที่ผู้ร้องและพยานผู้ร้องโดยสารมาขับรถช้าแวะจอดรับผู้โดยสารมาตลอดทาง เป็นเหตุให้ผู้ร้องมาศาลไม่ทันกำหนดนัดของศาล เมื่อมาถึงศาลแล้วไม่พบทนายความผู้ร้องและมีคนอยู่ที่ศาลบอกว่าคดีได้เลื่อนไปแล้ว ผู้ร้องเข้าใจว่าเลื่อนไปวันอื่นจึงได้ไปทำธุรกิจส่วนตัวนั้น เห็นว่าเป็นข้อกล่าวอ้างที่ปราศจากเหตุผล เพราะหากผู้ร้องมาศาลและมีคนที่ศาลบอกว่าคดีได้เลื่อนไปแล้วจริง ผู้ร้องซึ่งมีการศึกษาสูงและรับราชการเป็นครูก็น่าจะสอบถามเจ้าหน้าที่ของศาลให้ได้ความชัดแจ้งว่าเลื่อนไปวันไหนเวลาเท่าไร ทั้งยังมิได้ติดต่อกับทนายความผู้ร้องในเรื่องนี้อีกด้วย แต่กลับเข้าใจเอาเองว่าเลื่อนไปวันอื่น ข้ออ้างของผู้ร้องจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้มาศาลในวันนัดสืบพยานผู้ร้อง พฤติการณ์ที่ผู้ร้องไม่ได้ไปอบรมราชการที่กรุงเทพมหานครและมิได้มาศาลโดยไม่มีพยานอื่นมาสืบ แต่ทนายความผู้ร้องกลับมาขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าผู้ร้องไปอบรมราชการที่กรุงเทพมหานคร เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องไม่ได้เอาใจใส่ในการดำเนินคดีของผู้ร้องมีลักษณะเป็นการประวิงคดีให้ชักช้าเพื่อมิให้ทรัพย์ที่ถูกยึดในคดีนี้ถูกนำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันจำเป็นในการขอเลื่อนคดีของผู้ร้องแม้เป็นการขอเลื่อนคดีครั้งแรกก็ไม่สมควรที่จะให้เลื่อนคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคแรกที่ผู้ร้องอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1730/2519 ระหว่างนายรวม นรารัตน์โจทก์ นายพร ลักษณะวิเชียร กับพวก จำเลย นั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน

Share