คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างที่โจทก์ต้องโทษจำคุก แม้โจทก์จะได้รับการพักโทษปล่อยตัวออกจากเรือนจำก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์พ้นโทษนับแต่วันที่ได้พักการลงโทษ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันครบกำหนดโทษของโจทก์ คือวันที่ 6 มกราคม 2515 วันพ้นโทษของโจทก์จึงต้องนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2515เป็นต้นไป ฉะนั้น วันที่โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านในวันที่ 19 มกราคม 2516 และรับเลือกตั้งเป็นกำนันในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2516 จึงยังไม่พ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษโจทก์จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งได้ โดยหาจำต้องใช้สิทธิทางศาลไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อวันที่ 19 มกราคม2516 และได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2516 ต่อมามีผู้ร้องเรียนจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์เคยต้องโทษจำคุก พ้นโทษมายังไม่เกิน 3 ปี ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านกำนันจำเลยที่ 2 จึงสอบคุณสมบัติของโจทก์ และรายงานให้จำเลยที่ 1 ทราบ แล้วจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน สั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะระหว่างโจทก์ต้องโทษจำคุก โจทก์ได้รับการพักโทษปล่อยตัวออกจากเรือนจำตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2512 ต้องถือว่าโจทก์ได้รับโทษจำคุกเพียงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2512 นับจากวันที่โจทก์พ้นโทษถึงวันโจทก์สมัครรับเลือกตั้งจึงเกินกว่า 3 ปีโจทก์จึงมีคุณสมบัติในการรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง ขอให้พิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และห้ามจำเลยดำเนินการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันแทนโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เพราะเคยต้องโทษจำคุก นับถึงวันเลือกตั้งยังไม่พ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ

โจทก์ยื่นคำแถลงรับว่า เคยต้องโทษจำคุกตามคำให้การจำเลยและตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัย จึงสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับพักโทษตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2512 ถือไม่ได้ว่าโจทก์พ้นโทษตั้งแต่วันดังกล่าววันพ้นโทษของโจทก์ยังไม่พ้นกำหนด 3 ปี โจทก์จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันจำเลยที่ 1 มีอำนาจออกคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันในเหตุที่เคยต้องโทษจำคุกพ้นโทษมายังไม่เกิน 3 ปี โดยอ้างว่า การที่โจทก์ได้พักโทษตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2512 แล้ว โจทก์มิเคยกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีก จนถึงวันครบกำหนดโทษที่เหลืออยู่ต้องถือว่าโจทก์พ้นโทษนับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2512 เทียบเคียงได้กับเรื่องที่ศาลรอการลงโทษจำคุก เมื่อพ้นเวลาที่ศาลกำหนด โทษจำคุกที่ลงเป็นอันยกเลิก หรือไม่ก็เท่ากับเป็นการอภัยโทษลดโทษจำคุกให้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การรอการลงโทษจำคุกเป็นกรณีที่ยังไม่มีการลงโทษ ส่วนการพักการลงโทษ เป็นกรณีที่มีขึ้นหลังจากมีการลงโทษจำคุกแล้ว โดยผู้ที่ได้รับการพักโทษยังมีฐานะเป็นผู้ต้องโทษอยู่ในระหว่างพักการลงโทษ ถือไม่ได้ว่าพ้นโทษนับแต่วันที่ได้พักการลงโทษ จึงเป็นคนละกรณี ใช้เทียบเคียงกันไม่ได้ การได้รับอภัยโทษลดโทษจำคุกเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับลดโทษจำคุกของผู้ต้องโทษให้เหลือน้อยลง และให้มีผลในทันที มิใช่ใช้โดยมีเงื่อนไข ไม่เหมือนกับการพักโทษ ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับให้โอกาสแก่ผู้ต้องโทษได้ออกไปอยู่นอกเรือนจำก่อนจะพ้นโทษโดยยังมีฐานะเป็นผู้ต้องโทษอยู่ เป็นคนละกรณี ใช้เทียบเคียงไม่ได้เช่นกันเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันครบกำหนดโทษของโจทก์คือวันที่ 6 มกราคม 2515 วันพ้นโทษของโจทก์จึงต้องนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2515 เป็นต้นไป ฉะนั้น วันที่โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านในวันที่ 19 มกราคม 2516 และรับเลือกตั้งเป็นกำนันในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2516 จึงยังไม่พ้นกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ โจทก์จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน

ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งในกรณีที่โจทก์ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้าม ในการดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 364 ข้อ 2 ว่า “ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 12 ฯลฯ

(7) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งเมื่อได้สอบสวนเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง”

ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งไม่ถึงขั้นขาดคุณสมบัติ หรือเข้าลักษณะต้องห้าม กฎหมายก็ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 50 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในราชการของจังหวัดและอำเภอ และข้อ 53 บัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ แสดงให้เห็นว่า เมื่อโจทก์ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันตามมาตรา 14(1) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ดังกล่าวแล้ว ก็เป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งได้ หาใช่มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเฉพาะแต่กรณีตามมาตรา 14(7) เท่านั้นไม่ กรณีจึงไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลดังโจทก์ฎีกา

พิพากษายืน

Share