คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับจำนำจักรไว้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2505 เป็นเงิน1,700 บาท ขณะนั้นพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2480 ยังใช้บังคับอยู่ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติให้รับจำนำประกันเงินกู้ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 400 บาทเมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2480 การรับจำนำเช่นนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การที่จำเลยรับจำนำจักรรายนี้ต่อเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2506และออกตั๋วให้ใหม่ ไม่ทำให้เป็นการรับจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2506 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2505

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของจักรเย็บผ้าซิงเกอร์แบบ 201 เค.21 บี.แอล.เค.404 เลขจักร บี.เอส. 238207 ซึ่งนายถมยาได้เช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2505 ราคา 4,780 บาท โดยจะต้องชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 160 บาท จนกว่าจะครบ โจทก์จึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ แต่ผู้ซื้อยังชำระราคาไม่ครบ โจทก์จึงยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ จำเลยเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนดำเนินกิจการโรงรับจำนำ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2505 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการได้รับจำนำจักรดังกล่าวไว้ด้วยความประมาทเลินเล่อไม่สอบสวนให้รู้ว่าผู้จำนำไม่มีกรรมสิทธิ์รับจำนำไว้เป็นเงิน 1,700 บาท จึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำจำเลยออกตั๋วจำนำเลข 7469 ให้ และเมื่อผู้จำนำส่งดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2506 จำเลยได้ออกตั๋วให้ใหม่เลข 4891 โจทก์ได้ส่งจดหมายลงทะเบียนให้จำเลยคืนจักรให้โจทก์ใน 7 วัน จำเลยไม่ยอมรับจดหมายลงทะเบียน โจทก์จึงถือว่าได้บอกกล่าวแล้ว จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้คืนจักรหรือใช้ราคา 4,780 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า ใบมอบอำนาจของโจทก์ไม่ถูกต้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จักรที่จำเลยรับจำนำไว้กับจักรรายพิพาทเป็นคนละคัน จำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่อในการรับจำนำจำเลยรับจำนำต่อเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2506 เป็นการรับจำนำตามสัญญาใหม่ซึ่งพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ใช้บังคับแล้ว จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครอง คำบอกกล่าวของโจทก์ให้คืนจักรโดยมิได้เสนอที่จะชำระหนี้จำนำ จำเลยยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง บัดนี้ล่วงเลยเวลาไถ่คืนจำเลยได้ประกาศและปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ไม่มีผู้ใดมาขอไถ่จักรดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลย จำเลยได้ทรัพย์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มิได้ประมาทเลินเล่อ จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ขอสืบพยานในเรื่องอำนาจฟ้อง และสืบว่าจักรรายพิพาทเป็นจักรคันเดียวกับคันที่โจทก์ฟ้องเรียกคืน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ใบมอบอำนาจของโจทก์ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 โจทก์มีอำนาจฟ้อง ในเรื่องการรับจำนำจักรนั้น จำเลยได้รับจำนำเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2505 จึงต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 ปรากฏตามเอกสารว่า นายถมยาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2505 แต่จำเลยรับจำนำจากนายเสน่ห์เมื่อวันที่23 กันยายน 2505 แม้ตัวเลขของจักรตรงกัน ก็ไม่สามารถจะฟังว่าเป็นจักรรายเดียวกันได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอนำสืบว่าจักรคันที่ฟ้องเป็นจักรคันเดียวกับคันที่จำเลยรับจำนำ

ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และจำเลยได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505

ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ในเรื่องการรับจำนำนั้นจำเลยได้รับจำนำต่อวันที่ 23 กันยายน 2505 เป็นเงิน 1,700 บาท เมื่อจำนำส่งดอกเบี้ยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2506 จำเลยได้ออกตั๋วให้ใหม่นั้น พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2480 มาตรา 4 บัญญัติว่าในพระราชบัญญัตินี้ “รับจำนำ” หมายความว่า กิจการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 กล่าวคือ รับจำนำไว้เป็นประกันเงินกู้ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 400 บาท ฯลฯ ดังนั้น การที่จำเลยรับจำนำจักรไว้เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2505 เป็นเงิน 1,700 บาท จึงไม่ใช่การรับจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ แต่เป็นการรับจำนำที่จะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่จำเลยได้รับจำนำต่อเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2506 ไม่กระทำให้เป็นการรับจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ซึ่งเพิ่งใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2505 เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในจักรรายนี้ก็ย่อมมีสิทธิจะติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงเป็นการชอบแล้ว พิพากษายืน

Share