คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือลงในช่องที่เขียนว่า”ผู้มอบพินัยกรรม” และมีลายมือชื่อลงไว้ในช่อง “พยาน” 2 คนส่วนอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อในช่อง “พยาน” และ”ผู้เขียน” ตอนท้ายของพินัยกรรมมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า “ข้าพเจ้าจึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานหลักฐานไว้เป็นสำคัญ” เป็นข้อความที่ชัดเจนแล้วว่าผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานทั้งหมด ในพินัยกรรมซึ่งอยู่ต่อหน้าพร้อมกันในขณะทำพินัยกรรมอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุไว้อีกว่า ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน
ถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมปรากฏอยู่ในเอกสารว่า” ขอทำหนังสือสัญญาพินัยกรรม” ให้ไว้แก่จำเลยและลงท้ายว่า”เมื่อข้าตายไปขอให้ น.(จำเลย) นำหนังสือฉบับนี้ไปจดทะเบียนรับมรดกได้สมบูรณ์ตามกฎหมาย” แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมอย่างเด่นชัดว่าประสงค์จะยกทรัพย์ของตนให้ผู้รับพินัยกรรมเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว ถือได้ว่าเป็นพินัยกรรม(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 265/2488)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ ๑๖-๑๗ ปีมานี้ นางอุ่น โพธิ์ขาวมารดาได้แบ่งที่นาให้โจทก์ ๑ แปลง โจกท์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทำกินเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้อง ที่นาแปลงที่พิพาทนี้กับที่นาที่มารดายกให้จำเลย นางอุ่นมารดาได้แจ้ง ส.ค.๑ไว้ นางอุ่นถึงแก่กรรมมาประมาณ ๑๕ ปีแล้ว โจทก์จำเลยยังไม่ได้โอนมรดกให้ถูกต้อง เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕ โจทก์นำเจ้าพนักงานออกไปรังวัดที่พิพาทเพื่อออก น.ส.๓และทำการโอนให้ถูกต้อง จำเลยขัดขวางอ้างว่าเป็นที่ของตน ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางอุ่นมารดาจำเลยที่ ๒ ได้ทำพินัยกรรมยกที่นาที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ แล้ว เมื่อนางอุ่นถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๒ได้ถือสิทธิครอบครองตามพินัยกรรมตลอดมา โจทก์มิได้มีส่วนร่วมในพินัยกรรมโจทก์ได้มาขออาศัยทำนาในที่พิพาทจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ให้โจทก์อาศัยทำนาเป็นปี ๆ ไป
วัดนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตามหนังสือพินัยกรรมที่นางอุ่น โพธิ์ขาว ทำขึ้น และฝ่ายจำเลยได้ส่งต่อศาลแล้วนั้นเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าศาลวินิจฉัยว่าหนังสือฉบับดังกล่าวไม่เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยยอมแพ้คดียอมให้ที่พิพาทตก ตกเป็นของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือที่นางอุ่น โพธิ์ขาว ทำขึ้นมีผลเป็นพินัยกรรมสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ โจทก์จึงต้องแพ้คดีตามคำท้าพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารพินัยกรรมที่พิพาทว่านางอุ่น โพธิ์ขาว ได้พิมพ์ลายนิ้วมือลงไว้ในช่องที่เขียนว่า “ผู้มอบพินัยกรรม”และจำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในช่อง “ผู้รับมอบพินัยกรรม” มีลายมือชื่อลงไว้ในช่อง “พยาน” ๒ คน ส่วนอีกคนหนึ่งลงลายมือในช่อง “พยาน” และ “ผู้เขียน”ตอนท้ายของพินัยกรรมมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า “ข้าพเจ้าจึงได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานหลักฐานไว้เป็นสำคัญ” เป็นข้อความที่ชัดเจนแล้วว่าผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานทั้งหมด ในพินัยกรรมซึ่งอยู่ต่อหน้าพร้อมกันในขณะทำพินัยกรรมอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุไว้อีกว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ลงพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน
แม้ในพินัยกรรมจะได้กล่าวความไว้คล้ายกันจะเป็นการยกที่ดินให้แก่จำเลยตั้งแต่ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ก็มีถ้อยคำของผู้ทำเอกสารฉบับนี้ปรากฏอยู่ว่า “ขอทำหนังสือสัญญาพินัยกรรม” ให้ไว้แก่จำเลยและลงท้ายว่า “เมื่อข้าตายไปขอให้นางน้อย (จำเลย) นำหนังสือฉบับนี้ไปจดทะเบียนรับมรดกได้สมบูรณ์ตามกฎหมาย” ถ้อยคำทั้งหมดแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมอย่างเด่นชัดว่าประสงค์จะยกทรัพย์ของตนให้ผู้รับพินัยกรรม เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว ถือได้ว่าเป็นพินัยกรรมตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕/๒๔๘๘
พิพากษายืน

Share