แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยตกลงซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ โดยให้โจทก์อาศัยอยู่ในสิ่งปลูกสร้างอีก 6 เดือน โจทก์ยอมให้จำเลยชำระราคาบางส่วน ราคาส่วนที่เหลือจำเลยจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 6 เดือนให้โจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์จำเลยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลย ระบุว่าโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อโจทก์นำเช็คไปขอรับเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าเช็คพ้นกำหนดการจ่ายเงิน ดังนี้ โจทก์จำเลยยังเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขายฉบับเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเรื่องให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในสิ่งปลูกสร้างแลกเปลี่ยนกับการผ่อนระยะเวลา การชำระค่าที่ดินที่ยังมิได้ชำระ การทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเพียงพิธีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หาได้มีเจตนาจะแปลงหนี้หรือยกเลิกสัญญาฉบับเดิมไม่ เมื่อจำเลยมิได้เสียหายเนื่องจากการที่โจทก์มิได้นำเช็คไปรับเงินตามกำหนดและไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 และ 1005 จำเลยต้องรับผิดชำระราคาที่ดินที่ยังเหลืออยู่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1749 พร้อมกับสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ในราคา 2,000,000 บาท จำเลยชำระราคาแล้ว1,200,000 บาท ส่วนที่เหลือ 800,000 บาท จำเลยออกเช็คล่วงหน้าให้และให้โจทก์มีสิทธิอยู่ในสิ่งปลูกสร้างจนกว่าจะครบกำหนดใช้เงินตามเช็ค ต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยแล้วแต่นำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ โดยธนาคารแจ้งว่าพ้นกำหนดการจ่ายเงินตามเช็คจึงขอให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่ามิได้ร่วมซื้อที่ดินด้วย จำเลยที่ 2, 3 รับว่าได้ซื้อที่ดินของโจทก์ แต่ได้จดทะเบียนและชำระเงินครบถ้วนแล้วเช็คที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้เกิดจากสัญญาจะซื้อขายซึ่งได้แปลงหนี้ไปแล้ว โจทก์จะเรียกร้องให้ชำระราคาที่ดินอีกไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2, 3 ได้ร่วมซื้อที่ดินสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์และค้างชำระอยู่เป็นเงิน 800,000 บาท จำนวนตามเช็คที่จำเลยที่ 2 ออกให้โจทก์ไว้ โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 และมาตรา 1005 ซึ่งบัญญัติว่าหนี้เดิมยังไม่ระงับ และจำเลยมิได้เสียหายหรือได้มีข้อตกลงไว้เป็นประการอื่น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าซื้อที่ดินสิ่งปลูกสร้างค้างจำนวน 800,000 บาท แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดชดใช้หนี้จำนวน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2, 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2, 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่า ได้มีการแปลงหนี้แล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดจำนวนเงินที่ค้างและการนำสืบของโจทก์ต้องห้ามตามกฎหมายจริงหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 2, 3ตกลงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1749 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ในราคา2,000,000 บาท แต่เนื่องจากโจทก์ยังมีความจำเป็นต้องใช้สิ่งปลูกสร้างในที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว คู่ความจึงตกลงกันว่าจำเลยยอมให้โจทก์ใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวมีกำหนด 6 เดือน ส่วนการชำระราคาโจทก์ยอมให้จำเลยชำระในวันทำสัญญาเป็นเงิน 1,200,000 บาท อีก 800,000 บาท ชำระด้วยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 6 เดือน ได้มีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายชำระราคากันตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2513 ตามสัญญาซื้อขายหมาย จ.6 เช็คลงวันที่ล่วงหน้า 6 เดือนที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่โจทก์เป็นการชำระราคาที่ดินส่วนหนึ่ง คือเช็คลงวันที่ 24 สิงหาคม 2513 จำนวนเงิน 800,000 บาท หมาย จ.7 และในวันเดียวกันนั้นโจทก์จำเลยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดแก่กันด้วย ปรากฏตามสัญญาซื้อขายหมาย ล.1 ซึ่งตามข้อ 2 ในสัญญาระบุว่า ผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับชำระเงินค่าที่ดินรายนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ครั้นต่อมาโจทก์มิได้นำเช็คหมาย จ.7 ไปขอรับเงินตามกำหนด จนล่วงมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2514 จึงนำไปขอรับเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า เช็คพ้นกำหนดการจ่ายเงิน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ชำระ
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าสัญญาซื้อขายหมาย จ.6 ที่คู่ความทำกันไว้ คู่ความมีเจตนาผูกพันกันต่อไปตามเงื่อนไขเรื่องให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในสิ่งปลูกสร้างแลกเปลี่ยนกับการผ่อนระยะเวลาชำระค่าที่ดินส่วนหนึ่งเป็นจำนวน 800,000 บาท ในระยะเวลาเท่า ๆ กัน ส่วนการทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นทางการตามสัญญาซื้อขายหมาย ล.1 เป็นแต่เพียงพิธีการในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หาได้มีเจตนาจะแปลงหนี้หรือยกเลิกสัญญาที่ทำต่อกันไว้ดังฎีกาโต้แย้งของจำเลยแต่อย่างใดสัญญาซื้อขายหมาย จ.6 จึงหาได้ระงับไปเพราะสัญญาหมาย ล.1 ไม่การนำสืบของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าเช็คหมาย จ.7 เป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขาย หมาย จ.6 ซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้โจทก์เป็นการชำระราคาที่ดินส่วนหนึ่ง โจทก์นำไปรับเงินไม่ได้ จำเลยมิได้เสียหายเนื่องจากโจทก์มิได้นำไปรับเงินตามกำหนด และไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 และมาตรา 1005 ที่บัญญัติว่าหนี้เดิมมิได้ระงับไป จำเลยไม่มีทางที่จะปฏิเสธความรับผิดได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน