คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2658/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงมีหนังสือทวงให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญา หลังจากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์ โจทก์จึงถอนฟ้องแล้วนำรถยนต์ออกประมูลขายได้เงินไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อ จึงมาฟ้องเรียกราคารถยนต์ในส่วนที่ขาดจากจำเลยทั้งสองอีก กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) เพราะฟ้องโจทก์คดีก่อนไม่อยู่ในระหว่างพิจารณาเนื่องจากถอนฟ้องไปแล้ว และเมื่อพิจารณาคดีก่อนที่โจทก์ถอนฟ้องไปแล้วศาลยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ประกอบกับคดีก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์และชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคาจากการประมูลขายรถยนต์พร้อมดอกเบี้ยอันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน คำขอบังคับในคดีทั้งสองจึงต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าเสื่อมราคาหรือค่าขาดราคาของรถยนต์ที่ประมูลขายได้ราคาน้อยกว่าราคาเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
การคำนวณทุนทรัพย์เพื่อกำหนดอัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องถือเอาจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตั้งแต่ฟ้องคดี มิใช่คำนวณจากทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีซึ่งอาจจะไม่เต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว 520 ไอหมายเลขทะเบียน ค – 0435 เชียงใหม่ จำนวน 1 คัน ไปจากโจทก์ในราคา 840,000 บาท พร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 58,800 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 4โจทก์จึงให้พนักงานติดตามจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์นำออกประมูลขายได้เป็นเงินเพียง 376,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดราคารถหลังจากหักส่วนลดให้แล้วเป็นเงิน 352,350 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 352,350 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มิได้มีกรรมการตามฟ้อง มิได้มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้เช่าซื้อหรือประกอบกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ ปัจจุบันโจทก์ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศปิดกิจการถาวรแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ในราคา 840,000 บาท กำหนดชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 35,000 บาท จริง แต่จำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องแก่โจทก์จึงไม่ต้องชำระ รถยนต์ที่เช่าซื้อมีสภาพไม่เหมาะสมกับการใช้งานตามคำพรรณาของโจทก์ จำเลยทั้งสองขอส่งมอบคืนหลายครั้งแต่โจทก์เพิกเฉย ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าเสียหายและราคาของรถยนต์พิพาท ในที่สุดโจทก์ตกลงยอมรับรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยทั้งสองในวันที่ 13 มีนาคม 2540 โดยมิได้ทักท้วงหรือโต้แย้งสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย หรือส่วนขาดราคารถยนต์พิพาทอีกต่อไปและโจทก์ขอถอนฟ้องไปแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำซ้อนกับคดีดังกล่าว รถยนต์พิพาทมีราคาเงินสดจำนวน 984,000 บาท โจทก์ชำระราคาครั้งแรกเป็นเงิน 284,000 บาท โจทก์ลงทุนเพียง700,000 บาท ราคาเช่าซื้อส่วนที่เกินเงินลงทุน 140,000 บาท คือดอกเบี้ยที่โจทก์คิดอัตราร้อยละ 10 เป็นเวลา 24 เดือน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นเงิน 142,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 426,000 บาท ราคารถยนต์พิพาทที่แท้จริงคงเหลือ 558,000 บาท รถยนต์พิพาทหากโจทก์ขายโดยสุจริต มีราคาไม่น้อยกว่า 600,000 บาท รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์เก่าการที่ขายได้ราคาต่ำกว่าปกติเนื่องจากสภาพของตัวทรัพย์ มิใช่การใช้งานโดยขาดความระมัดระวัง และขาดการบำรุงรักษาแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องราคารถส่วนที่ขาดอยู่จากจำเลยทั้งสอง หากจะขาดราคาก็ไม่เกิน 182,000 บาท โจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดอันเนื่องจากการเช่าซื้อตามสัญญาภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อคืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 และโจทก์ไม่มีอำนาจเรียกร้องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะจำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงว่าจะชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 280,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว หมายเลขทะเบียน ค – 0435 เชียงใหม่ ไปจากโจทก์ในราคา840,000 บาท พร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 เป็นเงิน 58,800 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 24 งวด งวดละเดือน เดือนละ 37,450 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์บางส่วนแล้วไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์ โจทก์จึงถอนฟ้องต่อมาโจทก์นำรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อออกประมูลขายได้ราคา 376,000 บาท

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้อนกับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีก่อน ต้องได้ความว่าคดีก่อนของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแล้วโจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น จึงเป็นอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายชัชวาลย์ แต้ประจิตร พยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงถอนฟ้องคดีดังกล่าวไป ต่อมาโจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวออกประมูลขายแล้วจึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ดังนั้น คดีก่อนของโจทก์จึงไม่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแล้วเพราะเหตุโจทก์ถอนฟ้องดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงหาเป็นฟ้องซ้อนไม่ สำหรับเรื่องฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่า โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังไม่ได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี อีกทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์และชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์แล้ว โจทก์นำออกประมูลขายได้เงินเพียง 376,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคาเป็นเงิน 352,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยเห็นว่า ความเสียหายของโจทก์ตามฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีก่อนและถอนฟ้องคดีดังกล่าวไป คำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามฟ้องคดีนี้จึงต่างจากคำขอบังคับของโจทก์ในคดีก่อนฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ราคาน้อยกว่าเงินลงทุนเพราะความชำรุดบกพร่องของรถยนต์อันเนื่องมาจากการเก็บรักษาของโจทก์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากได้มีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน การฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจึงสืบเนื่องจากความชำรุดบกพร่องของตัวทรัพย์มีอายุความ 6 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ประมูลขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปได้ราคาไม่ครบจำนวนค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพราะจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อจนชำรุดเสียหาย ทำให้โจทก์ขายได้ราคาเพียง 376,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจำนวน 352,350 บาท ซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาในฟ้องก็คือค่าเสื่อมราคาหรือค่าขาดราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อที่ประมูลขายได้น้อยกว่าราคาเช่าซื้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 11. นั่นเอง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อเนื่องจากการใช้ของจำเลยที่ 1 ดังที่ฎีกาแต่อย่างใด การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่อายุความ 6 เดือน ได้ความว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 ตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.12 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าเสื่อมราคาหรือค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดจากการประมูลขายรถยนต์ที่เช่าซื้อจำนวน 352,350 บาท ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 11 ค. กำหนดว่า “ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี… ในกรณีดังกล่าวผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้ว ทั้งหมดเป็นของเจ้าของโดยผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเอง ถ้าไม่ส่งคืนก็ให้ถือว่าครอบครองโดยไม่ชอบ… และผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อที่ติดค้าง หรือใช้ค่าเสียหายที่เจ้าของต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินนั้นให้เช่า… ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วน” ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ใช้บังคับได้ โดยมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับในกรณีที่โจทก์เรียกร้องราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาสำหรับเบี้ยปรับนั้นหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ เนื่องจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นการคิดราคาที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนรวมกับค่าเช่าแต่ละเดือนด้วย และการใช้รถยนต์จะต้องมีการเสื่อมราคาตามอายุการใช้งาน ทั้งคดีรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ประมูลขายรถยนต์ดังกล่าวไปในราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าควรขายได้ในราคา600,000 บาท และเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่ดูแลรักษาให้รถยนต์อยู่ในสภาพดีจึงขายได้ราคาต่ำดังกล่าวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 280,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 28 พฤศจิกายน 2540) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่าค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์นั้นสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่า อัตราค่าทนายความตามมาตรา 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดให้ศาลพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น ตามอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงแห่งทุนทรัพย์หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ ดังที่ระบุไว้ กรณีนี้ทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยจำนวน 352,350 บาท อัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นตามตาราง 6 ที่กำหนดค่าทนายความให้คือร้อยละ 5 ของจำนวนทุนทรัพย์ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนโจทก์จำนวน 15,000 บาท จึงไม่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอัตราร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้ชนะคดีเต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องก็ตาม แต่การคำนวณทุนทรัพย์ต้องถือจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตั้งแต่ฟ้องคดี มิใช่คำนวณจากทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ฉะนั้น ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดดังกล่าวจึงไม่นับว่าสูงเกินสมควรฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share