คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในขณะฟ้องคดีนี้บัญญัติให้คู่ความเพียงแต่นำสืบพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์แม้โจทก์จะอ้างส่งเอกสารเพียง 10 ฉบับและไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายบัตรเครดิตของจำเลยครบถ้วนแต่ตามหลักฐานที่โจทก์นำส่งจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนเป็นจำนวนหลายครั้งให้แก่โจทก์ อีกทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตมาอ้างส่งต่อศาล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายที่จะชนะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) โดยโจทก์ไม่ต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตทั้งหมดอ้างส่งเป็นพยานแต่อย่างใด
สัญญาบัตรเครดิตตามฟ้องเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้แก่จำเลยไม่ได้และได้ประกาศหนังสือพิมพ์ระหว่างวันที่ 17ถึง 21 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ลงประกาศ หากพ้นกำหนดให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตเป็นอันยกเลิก เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือได้ว่าสัญญาบัตรเครดิตเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันพ้นกำหนดชำระหนี้คือวันที่ 5 สิงหาคม 2541 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2541 หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาอันเป็นสิทธิที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 215,373.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 166,377.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีภาระหน้าที่จะต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิต ตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตขวัญนครมานำสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนให้ได้ครบจำนวนหนี้ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัด มาตรา 205 (เดิม) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในขณะฟ้องคดีนี้บัญญัติว่า “…ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้คู่ความที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะต่อเมื่อศาลเห็นว่า ข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย…”จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการชี้ให้เห็นว่าคู่ความเพียงแต่นำสืบพยานหลักฐานเพียงให้ศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น เมื่อปรากฏจากทางพิจารณาว่าโจทก์มีนางสุภาพ อังสุมาลี เบิกความยืนยันประกอบใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตขวัญนครว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเอกสารดังกล่าว แม้โจทก์อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเพียง 10 ฉบับเท่านั้น ซึ่งหาได้มีรายละเอียดการใช้จ่ายบัตรเครดิตของจำเลยครบถ้วนตามฟ้อง แต่ในเอกสารนั้นมีข้อความระบุ ชื่อ ที่อยู่ของจำเลยรายการใช้จ่ายบัตรเครดิตบางส่วน ร้านค้าที่นำบัตรเครดิตไปใช้ ยอดเงินที่ต้องชำระรวมจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระกำหนดวันที่ชำระหนี้ รวมทั้งรายการชำระหนี้ของจำเลยบางส่วน นอกจากนี้มีข้อกำหนดว่าหากยอดเงินในเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องให้จำเลยแจ้งแก่โจทก์ภายใน 7 วัน จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ใช้จ่ายบัตรเครดิตตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตขวัญนคร ซึ่งโจทก์ได้ส่งเอกสารให้จำเลยเพื่อตรวจสอบกับหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตซึ่งมีอยู่ที่จำเลยด้วยแล้วยิ่งกว่านั้นกลับได้ความตามหลักฐานที่โจทก์นำส่งว่าจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนเป็นจำนวนหลายครั้งให้แก่โจทก์อีกด้วยอีกทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตมาอ้างส่งต่อศาล ดังนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายที่จะชนะคดีตามบทบัญญัติมาตรา 205 (เดิม) ดังกล่าว โดยโจทก์ไม่จำต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตทั้งหมดอ้างส่งเป็นพยานแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้เมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใด และพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นสำหรับปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงใดนั้น ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยอีก โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าโจทก์คิดยอดหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 13มกราคม 2541 แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2541 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 166,377.35 บาท นั้น เห็นว่า ตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตขวัญนครปรากฏว่าในวันที่ 13 มกราคม 2541 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 163,229.40 บาท เท่านั้น นอกจากนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยหลายอัตราโดยเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 48,995.77 บาท นั้นเห็นว่า สัญญาบัตรเครดิตตามฟ้องเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ฉะนั้นคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้แก่จำเลยไม่ได้และได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์ระหว่างวันที่ 17 ถึง 21 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ลงประกาศ หากพ้นกำหนดให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตเป็นอันยกเลิก เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือได้ว่าสัญญาบัตรเครดิตเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันพ้นกำหนดชำระหนี้คือ วันที่ 5 สิงหาคม 2541 ดังนั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตขวัญนครจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2541 หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาอันเป็นสิทธิที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หลังจากที่โจทก์คิดยอดหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2541 แล้ว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดเป็นจำนวนเท่าใดทั้งตามประกาศของโจทก์เป็นประกาศ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดมีเพียง 3 ฉบับ ซึ่งที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2541 วันที่ 16 เมษายน 2542 และวันที่ 7 มิถุนายน2542 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 21.50 ต่อปี 16.50 ต่อปี และ 16 ต่อปีตามลำดับเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าดอกเบี้ยอัตราสูงสุดระหว่างวันที่ 14 มกราคม2541 ถึงวันที่ 2 เมษายน 2541 เป็นจำนวนเท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ16.50 ต่อปี ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21.50 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาสิ้นสุดหลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญานับตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2542 ส่วนดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไป โจทก์ขอคิดอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จึงเป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งไม่เกินอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน43,761.13 บาท รวมกับต้นเงิน 163,229.40 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 206,990.53 บาท”

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 206,990.53 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 163,229.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share