แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนสืบไปหมดแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นต้องแสดงเหตุผลอันสมควรที่ตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อ ประโยชน์ของตน หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด เมื่อคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้วมิได้แสดงเหตุผลดังกล่าวเพียงแต่อ้างว่าพลั้งเผลอเท่านั้น ศาลสั่งไม่อนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์สินเป็นของตนทั้งหมดจากจำเลย แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง ศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาท ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่ดิน 1 แปลง ได้มาโดยรับยกให้ตีใช้หนี้โจทก์ได้ปลูกบ้าน 1 หลังบนที่ดินแปลงนี้และครอบครองตลอดมา กับมีกระบือผู้อีก 2 ตัว เมื่อ พ.ศ. 2498 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรไปแจ้งการครอบครองแทน จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเป็นชื่อจำเลยที่ 1แล้วต่อมาได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามจำเลยที่ 1โจทก์ทราบจึงไปร้องคัดค้าน เมื่อเดือนมิถุนายน 2511 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองจะให้ค่าที่ดินแก่โจทก์เป็นข้าว 100 ถัง แต่แล้วก็ไม่ยอมให้ โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากบ้านโจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมออก จึงขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนชื่อออกจากแบบแจ้งการครอบครองใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ถ้าไม่ยินยอมขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 2 ใช้ข้าวเปลือก 100 ถัง หรือเงิน 1,100 บาทให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ซื้อมาจากนายมีนางหอย จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทมากว่า 10 ปีแล้ว และรับโจทก์กับบิดามาอยู่ด้วย จำเลยที่ 2 เข้ามาอยู่ในบ้านโดยอาศัยสิทธิจำเลยที่ 1 กระบือก็เป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และนางพริ้งภรรยา ปกครองร่วมกันมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปได้ภรรยาใหม่แล้วไม่ได้ครอบครองที่พิพาท ส่วนเรือนพิพาทนางพริ้งกับนางเล็กบุตรสาวเป็นคนปลูกสร้างขึ้น ไม่ใช่ของโจทก์ นางพริ้งยกที่พิพาทกับเรือนให้จำเลยที่ 2 เมื่อแต่งงานกับนางเล็ก กระบือ 2 ตัวเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงให้ข้าวเปลือกแก่โจทก์
นางพริ้งยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต ผู้ร้องสอดให้การทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทและบ้านโดยเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน กระบือ 2 ตัว เป็นของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์ตามฟ้องออกเป็นสองส่วน ให้โจทก์ได้หนึ่งส่วน อีกหนึ่งส่วนเป็นของจำเลยที่ 1 หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกัน ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบข้าวเปลือก 100 ถังหรือเงิน 1,100 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และผู้ร้องสอดฎีกา
คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า
1. ที่ดิน บ้าน และกระบือ เป็นของจำเลยที่ 2 หรือไม่
2. จำเลยที่ 2 ต้องชำระข้าวเปลือก 100 ถังให้แก่โจทก์หรือไม่
3. ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 2เป็นการชอบหรือไม่
4. ศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทเป็นการเกินคำขอของโจทก์หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อ 1 และข้อ 2 ว่า คดีฟังไม่ได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 กระบือสองตัวเป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 ปัญหาข้อ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ในข้อนี้ไว้ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนในปัญหาข้อ 3 ที่ว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่า หลังจากสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมโดยอ้างว่าพลั้งเผลอไป โจทก์คัดค้านว่าไม่ควรอนุญาต ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้โต้แย้งคำสั่งไว้แล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การขอระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนสืบไปหมดแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นต้องแสดงเหตุผลอันสมควรที่ตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตน หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้แสดงเหตุผลดังกล่าวเพียงแต่อ้างว่าพลั้งเผลอเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาต จึงเป็นการชอบแล้ว
ในปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า ศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทเป็นของตนทั้งหมดจากจำเลย แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง ศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทจึงเป็นการชอบแล้ว ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
พิพากษายืน