คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลำพังคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนยังไม่เป็นหลักฐาน พอให้ศาลรับฟังลงโทษจำเลยได้
คำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยนั้น จะใช้ยันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 1 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้ขวานและมีดปลายแหลมเป็นอาวุธฟันแทงทำร้ายร่างกายนายฉลอง ขำปากพลี ถึงแก่ความตาย โดยมีเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289, 83 และริบขวานกับมีดปลายแหลมของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยที่ 2 ที่ 3ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 ประกอบกับมาตรา 52(2) และลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 แล้วคงจำคุกคนละ 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นหญิงมีจิตใจไม่ค่อยปกติเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัสถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 52(1)แล้วคงจำคุกไว้ตลอดชีวิตของกลางริบ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำผิด คงมีแต่คำให้การของนายสุพจน์ในชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นผู้รับคำบอกเล่ามาจากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 จะได้ฆ่าสามีจริงหรือจำเลยที่ 1ได้บอกเล่าให้นายสุพจน์ทราบข้อความดังกล่าวนั้นหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ได้ความแต่อย่างใด คำให้การของนายสุพจน์ชั้นสอบสวนจึง ยังไม่เป็นหลักฐานพอให้ศาลรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ และที่โจทก์ฎีกาว่ายังมีคำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำผิดด้วยนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็น หรือพยานพฤติเหตุแวดล้อมพอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1กระทำความผิดแล้ว โจทก์จะอาศัยคำให้การซัดทอดดังกล่าว มาใช้ยันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 1 หาได้ไม่

พิพากษายืน

Share