คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองสมควรล้มละลายหรือไม่ ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการยื่นฟ้องและคดีนั้นยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังค้างพิจารณาอยู่ในศาล… ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” เมื่อคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับและได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท จึงเข้าองค์ประกอบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (เดิม) ประกอบกับในการพิจารณาคดีล้มละลายต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (เดิม) หรือมาตรา 10 (เดิม) ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ยกฟ้อง ฉะนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ และจำเลยทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ลำพังเหตุที่มีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยเพิ่มจำนวนหนี้ที่จะฟ้องล้มละลายให้สูงขึ้น ยังไม่พอฟังว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ทราบการขายทอดตลาดและขายทอดตลาดราคาต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ในส่วนที่ขาด จำเลยทั้งสองยังมีทรัพย์สินและมีรายได้พอชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ บัญญัติว่า “บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล… ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ดังนั้น เมื่อคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล การพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองควรล้มละลายหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการยื่นฟ้อง ซึ่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙ (เดิม) บัญญัติว่า “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ… (๒) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท…” เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท จึงเข้าองค์ประกอบที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลายได้ ประกอบกับในการพิจารณาคดีล้มละลายต้องอยู่ในบังคับของมาตรา ๑๔ แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ (เดิม) หรือมาตรา ๑๐ (เดิม) ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ยกฟ้อง ฉะนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ และจำเลยทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ลำพังเหตุที่มีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยเพิ่มจำนวนหนี้ที่จะฟ้องล้มละลายให้สูงขึ้น ยังไม่พอฟังว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share