แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้ รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลป แผนปัจจุบันในสาขาเวชกรรมชั้นหนึ่งเป็นลูกจ้างโรงพยาบาล ล. ได้ รับค่าจ้างเป็นรายเดือน โดย นายจ้างมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวได้ โดย เสรีนอกเวลาทำงานและมีข้อตกลงพิเศษให้โจทก์ใช้สถานที่โรงพยาบาลประกอบวิชาชีพอิสระเป็นคลีนิคส่วนตัวนอกเวลาทำงานได้ ด้วย โดย แบ่งรายได้เข้าโรงพยาบาลตาม อัตราที่กำหนดดังนี้ เงินที่โจทก์ได้ รับจากคนป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาล ล.นอกเวลาทำการปกติของโจทก์ จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้ รับมาจากการประกอบวิชาชีพอิสระ มิใช่เป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากรมาตรา 40(1) แต่ เป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(6).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย กับขอให้งดเรียกเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับด้วย และขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บไปจากโจทก์จำนวน 90,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์นั้น เจ้าพนักงานประเมินได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลย ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ 5014-1-08565 ลงวันที่ 15 มิถุนายน2530 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 18/2531 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2531 และให้จำเลยคืนเงินภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มที่เรียกเก็บไว้จากโจทก์จำนวน90,320 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่คืนให้โจทก์โดยไม่คิดทบต้นเนื่องจากคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าขอให้ชำระดอกเบี้ยแต่เมื่อใด จึงให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นแต่มิให้เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลป โดยประกอบวิชาชีพเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลลานนา ซึ่งเป็นของบริษัทเชียงใหม่ธุรกิจการแพทย์ จำกัด ในปีภาษี พ.ศ. 2529 โจทก์ได้รับค่าจ้างจากโรงพยาบาลลานนา 388,079 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับเงินจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการตามปกติของโจทก์ 315,500 บาท และยังมีรายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระที่คลีนิกส่วนตัวอีก 16,300 บาท โจทก์ได้เสียภาษีในเงินได้พึงประเมินทั้งหมดโดยถือว่าเงินที่ได้รับค่าจ้างจากโรงพยาบาลลานนา 388,079 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และเงินที่ได้รับจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนานอกเวลาทำการตามปกติจำนวน 315,500 บาท กับเงินที่ได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระที่คลีนิกส่วนตัวจำนวน 16,300 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าเงินที่โจทก์ได้รับจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนานอกเวลาทำการปกติของโจทก์จำนวน 315,500 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่ม 90,320 บาท โจทก์จึงได้เสียภาษีเพิ่มในจำนวนดังกล่าวแล้ว
ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยมีว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการปกติของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร เห็นว่ารายรับส่วนนี้พยานโจทก์มีตัวโจทก์นายประวิทย์อัครชิโนเรศ เบิกความตรงกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลลานนาได้รับค่าจ้างเดือนละ 29,520 บาท และทางโรงพยาบาลตกลงให้โจทก์เปิดคลีนิกพิเศษนอกเวลาทำการตามปกติในโรงพยาบาลลานนาได้โดยแบ่งรายได้เข้าโรงพยาบาลลานนาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 อย่างสูงไม่เกินร้อยละ 80 ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนให้เห็นว่าโรงพยาบาลลานนาจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์เป็นเงินเดือน หรือค่าจ้างคงมีแต่นายสง่า ลิ้มพัฒนาชาติ เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจแบบแสดงรายการเสียภาษีของโจทก์เห็นว่าเป็นแพทย์โดยได้รับเงินเดือนจากโรงพยาบาลลานนา และยังได้รับเงินในการปฏิบัติงานนอกเวลาอีกจำนวนหนึ่ง จึงถือว่าเป็นค่าจ้างที่โรงพยาบาลจ่ายให้ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยรับฟังได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวโจทก์ได้รับจากคนป่วยที่มาทำการรักษา โดยโจทก์ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลลานนา เมื่อได้เงินมาแล้วก็แบ่งส่วนให้โรงพยาบาลมิใช่เป็นเงินที่โรงพยาบาลจ่ายให้เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่โจทก์เงินที่โจทก์ได้รับจากคนป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการปกติของโจทก์ จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาจากการประกอบวิชาชีพอิสระ มิใช่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร…”
พิพากษายืน.