แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1ทราบว่าจะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าใด ถือว่ามีจำนวนหนี้ภาษีที่โต้แย้งกันแล้วเมื่อไม่ชำระโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกให้ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องรอให้กำหนดระยะเวลา 30 วันที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลสิ้นสุดลงเสียก่อน ส่วนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2-8 ร่วมกันรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 2 นำไปแบ่งให้จำเลยที่ 2-8 ในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินเพิ่มแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและได้ตั้งจำเลยที่ 2 ชำระบัญชี ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีเงินคงเหลือจำนวน 115,803.86บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายคืนค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2-8 โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีอากรค้างและยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์อันเป็นการชำระบัญชีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่สุจริต จำเลยที่ 2-8จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1-8 ร่วมกันชำระภาษีจำนวน 409,438.62 บาท ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2-8 ร่วมรับผิดจำนวนไม่เกิน 115,803.86 บาท และเงินเพิ่มในอัตราส่วนละ1.5 ต่อเดือน เศษของเดือนให้คิดเป็นหนึ่งเดือนในต้นเงินภาษี236,865.74 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งแปดให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันว่า การประเมินภาษีอากรของโจทก์ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายการจดทะเบียนเลิกกิจการและชำระบัญชีก็กระทำโดยสุจริต หากจำเลยที่ 2-8 ต้องร่วมรับผิดก็รับผิดไม่เกินส่วนของผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้รับคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์มีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในการเรียกเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนให้โจทก์ดำเนินการตั้งแต่ออกหมายเรียกไต่สวนแล้วทำการประเมินเมื่อมีการประเมินแล้วถ้าผู้เสียภาษีไม่พอใจการประเมิน กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อได้ปฏิบัติถึงขั้นตอนที่โจทก์ได้แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1ทราบว่าจะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าใด ถือว่ามีจำนวนหนี้ภาษีที่โต้แย้งกันแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินภาษีไปชำระโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องรอให้กำหนดระยะเวลา30 วัน ที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้สิ้นสุดลงเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2-8 นั้นปรากฏจากคำฟ้องว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดหน้าที่นำเงินของจำเลยที่ 1 ไปจ่ายคืนค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2-8 การฟ้องให้จำเลยที่ 2-8 ร่วมกันรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 2 นำไปแบ่งให้จำเลยที่ 2-8 นั้น หาใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2-8 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางเฉพาะในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาและพิพากษาคดีเฉพาะของจำเลยที่ 1 ใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง