คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644-2645/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ทางราชการสงวนไว้สำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(3) แม้ผู้เข้าครอบครองจะได้แจ้งการครอบครองไว้ ก็ไม่ทำให้สภาพของที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเปลี่ยนแปลงไป ผู้ครอบครองนำที่ดินดังกล่าวให้ผู้อื่นเช่า สัญญาเช่าตกเป็นโมฆะ ผู้ครอบครองไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่หรือเรียกค่าเช่าจากผู้เช่า

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินหนึ่งแปลง ได้ครอบครองมาเกินกว่า 10 ปี และได้แจ้งการครอบครองไว้แล้ว ทั้งมีสิทธิเป็นเจ้าของตามคำพิพากษาฎีกาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 226/2505 ด้วย จำเลยได้เช่าที่ดินของโจทก์แล้วไม่ชำระค่าเช่าโจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่า และให้จำเลยและบริวารรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของรัฐ จำเลยเข้าปลูกบ้านและครอบครองทำประโยชน์มาแต่ผู้เดียว จำเลยไม่เคยเช่าจากโจทก์สัญญาเช่าตามฟ้องเกิดขึ้นเพื่อลวงเจ้าหนี้ของจำเลยว่าเป็นที่ดินของโจทก์ จะได้ยึดเอาไปชำระหนี้ไม่ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ

สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าหนึ่งแปลง จำเลยที่ 1 ได้เข้าแย่งสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ โดยอ้างว่าเช่าที่ดินจากจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านออกไป และห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้มาจากบุคคลอื่นและโดยคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 226/2505 โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินรายนี้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยสำนวนแรกชำระค่าเช่าที่ค้างให้โจทก์กับให้จำเลยและบริวารรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท ส่วนสำนวนหลัง ให้ยกฟ้อง

จำเลยสำนวนแรก และโจทก์สำนวนหลังอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรกส่วนสำนวนหลังพิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา

สำนวนแรก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นที่ที่ทางราชการสงวนไว้สำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์จะได้แจ้งการครอบครองไว้ก็ไม่ทำให้สภาพของที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่แล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์นำไปให้จำเลยเช่าสัญญาเช่าจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ หรือเรียกค่าเช่าจากจำเลย

สำนวนหลัง ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาท มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าโจทก์

พิพากษายืน

Share