คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน การที่จำเลยเพียงแต่มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อโจทก์และมีหนังสือขอความเป็นธรรมจากโจทก์ ก็หาใช่คำอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์การประเมิน จำนวนค่าอากรจึงยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีนี้ว่า จำเลยไม่ต้องเสียอากรตามการประเมินเพราะเหตุการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของประกาศกรมศุลกากรฯ และจำเลยสามารถใช้สิทธิยกเว้นให้ถูกต้อง แม้ใช้สิทธิภายหลังการตรวจปล่อยสินค้าหรือเสียอากรไปแล้วได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้อากรขาเข้าและเงินเพิ่มค้างชำระ (คำนวณถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557) แก่โจทก์ รวมกันเป็นเงินจำนวน 2,494,400.05 บาท และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือนของต้นเงินอากรขาเข้าค้างชำระตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะนำเงินมาชำระหนี้อากรขาเข้าแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ว่า ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม2547 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2547 จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม(กศก.99/1) ด้วยการประเมินตนเอง โดยสำแดงว่านำสินค้าประเภทลูกแพร์ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ประเภทพิกัด 0808.200 อัตราอากรขาเข้า 0 เนื่องจากได้รับยกเว้นอากรตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ทจ) ประกาศกระทรวงการคลัง ที่ กค 0518/ว1310 เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน (ทจ) ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ รวมจำนวน 4 ใบขน โดยใบขนสินค้าทั้งหมดเป็นแบบ GREEN LINE ประทับตรายกเว้นการตรวจดังนี้ (1) ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ 0101-00847-00028 วันนำเข้าวันที่ 1 สิงหาคม 2547 จำนวนสินค้า 1,594 หีบห่อ น้ำหนักสุทธิ 19,943 กิโลกรัม พร้อมแนบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) FORM A Reference No.Zc 1751D/04/0009 Date JUL 16,2004 ใบรับรองสุขอนามัย (PHYTOSANITARY CERTIFICATE) และใบตราส่ง (BILL OF LADING) และโจทก์ได้ตรวจปล่อยสินค้าไปจากอารักขาในวันที่ 5 สิงหาคม 2547 (2) ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ 0101-00847-02088 วันนำเข้าวันที่ 15 สิงหาคม 2547 จำนวนสินค้า 1,519 หีบห่อ น้ำหนักสุทธิ 20,182.50 กิโลกรัม พร้อมแนบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) FORM A Reference No.ZC 1751D/04/0018 Date JUL 29,2004 ใบรับรองสุขอนามัย (PHYTOSANITARY CERTIFICATE) และใบตราส่ง (BILL OF LADING) และโจทก์ได้ตรวจปล่อยสินค้าไปจากอารักขาในวันที่ 17 สิงหาคม 2547 (3) ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ 0101-00847-03370 วันนำเข้าวันที่ 23 สิงหาคม 2547 จำนวนสินค้า 1,669 หีบห่อ น้ำหนักสุทธิ 19,607.50 กิโลกรัม พร้อมแนบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certifcate of Origin) FORM A Reference No.ZC 1751D/04/0024 Date AUG 06,2004 ใบรับรองสุขอนามัย (PHYTOSANITARY CERTIFICATE) และใบตราส่ง (BILL OF LADING) และโจทก์ได้ทำการตรวจปล่อยสินค้าจากอารักขาในวันที่ 23 สิงหาคม 2547 (4) ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ 0101-00947-01272 วันนำเข้าวันที่ 9 กันยายน 2547 จำนวนสินค้า 1,586 หีบห่อ น้ำหนักสุทธิ 16,715 กิโลกรัม พร้อมแนบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certifcate of Origin) FORM A Reference No.ZC 1751D/04/0028 Date AUG 28,2004 ใบรับรองสุขอนามัย (PHYTOSANITARY CERTIFICATE) และใบตราส่ง (BILL OF LADING) และโจทก์ได้ตรวจปล่อยสินค้าไปจากอารักขาในวันที่ 10 กันยายน 2547 ต่อมาสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า FORM E โดยอ้างว่าการยื่นใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า FORM A มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 เท่านั้น เมื่อจำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรภายหลังวันที่ 30 มิถุนายน 2547 เพื่อให้ได้ยกเว้นอากรขาเข้าจึงต้องส่งใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า FORM E ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 14/2547 เรื่องระเบียบพิธีการสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนลงวันที่ 30 มกราคม 2547 จำเลยจึงแจ้งไปยังผู้ขายที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้จัดส่งใบรับรองแหล่ง กำเนิดสินค้า (FORM E) ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 มารวม 4 ฉบับ โดยในใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (FORM E) ได้ระบุว่า “ให้มีผลย้อนหลัง” (ISSUED RETROSPECTIVELY) และส่งมอบให้โจทก์เพื่อประกอบการพิจารณา ต่อมาฝ่ายโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการยื่นใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า FORM E แทน FORM A ของจำเลย ภายหลังการตรวจปล่อยไม่สามารถใช้ประกอบการใช้สิทธิยกเว้นอากรตามความตกลงเขตการค้าเสรีไทย – จีน (ทจ.) สำหรับสินค้าพิพาทที่นำเข้าได้ โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระอากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และเจ้าพนักงานประเมินอากรขาเข้าของโจทก์ได้ทำการประเมินอากรขาเข้าพร้อมเงินเพิ่มตามใบขนสินค้าขาเข้าที่พิพาทกันในคดีนี้ทั้ง 4 ฉบับ แล้วมีหนังสือแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าพร้อมใบแนบส่งให้จำเลยทราบ โดยจำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำนวนภาษีพิพาทยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีหนังสือตามแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ให้จำเลยต้องชำระอากรและเงินเพิ่มให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งการประเมิน มิฉะนั้นโจทก์อาจเรียกเก็บเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมินไม่ว่าในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง จำเลยต้องใช้สิทธิในการอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 การที่จำเลยเพียงแต่มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อโจทก์ และมีหนังสือขอความเป็นธรรมจากโจทก์อ้างว่า การนำเข้าสินค้าลูกแพร์ของจำเลยที่พิพาทกันในคดีนี้จำนวน 4 ใบขน ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรสำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน (ทจ.) ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2546 และการที่จำเลยปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบพิธีการศุลกากรที่กำหนดโดยจำเลยยื่นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (FORM A) แต่ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 14/2547 กำหนดให้ยื่นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (FORM E) ก็ไม่ทำให้สิทธิได้รับยกเว้นอากรขาเข้าของจำเลยหมดสิ้นไปนั้น เป็นเพียงหนังสือขอความเป็นธรรมของจำเลยขอให้ยกเลิกหนังสือแจ้งการประเมิน หาใช่เป็นแบบหนังสืออุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ทั้งหนังสือขอความเป็นธรรมของจำเลยที่อ้างว่า ยังมีปัญหาข้อกฎหมายและพิธีการศุลกากรว่า จำเลยได้รับสิทธิยกเว้นอากรหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานของสองหน่วยงานของโจทก์ คืออยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักกฎหมายจำนวน 4 ใบขน และอยู่ในระหว่างการดำเนินการของสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพอีก 2 ใบขน การพิจารณาอาจมีความเห็นแตกต่างกันก็ได้ จึงน่าจะมีปัญหาในการพิจารณาเพื่อเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ จำเลยขอให้โจทก์พิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณากฎหมายและพิธีการศุลกากรร่วมพิจารณาต่อไปด้วย ก็หาใช่เป็นคำอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์การประเมิน จำนวนค่าอากรจึงยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีนี้ว่า จำเลยไม่ต้องเสียอากรตามการประเมินเพราะเหตุการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของประกาศกรมศุลกากรที่ 14/2547 จำเลยสามารถใช้สิทธิยกเว้นให้ถูกต้อง แม้ใช้สิทธิภายหลังการตรวจปล่อยสินค้าหรือเสียอากรไปแล้วก็ย่อมได้นั้น ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้เนื่องจากจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามที่โจทก์ฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระหนี้อากรขาเข้าและเงินเพิ่มค้างชำระ (คำนวณถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557) แก่โจทก์เป็นเงิน 2,494,400.05 บาท และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ของต้นเงินอากรขาเข้าค้างชำระตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2557) ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share