คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างและผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จ้างจำเลยอื่นให้พิมพ์ปลอมหนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีลิขสิทธิ์ เอาชื่อในการประกอบการค้าและรูปเสมาธรรมจักรซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้ แล้วส่งไปจำหน่ายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมพ.ศ. 2474 มาตรา 25,27 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 24,43 พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482มาตรา 6,7,8 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 19,57ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265,268,272(1)กรณีเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทเมื่อบทหนักตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ พระราชบัญญัติการพิมพ์ฯและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,268 ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วความผิดบทอื่น ๆ แม้จะมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าแผนกจำหน่าย จำเลยที่ 5เป็นผู้จัดการฝ่ายการพิมพ์โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นแม้จะทราบว่ากรมการปกครองต้องขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการก่อนจึงจะจัดพิมพ์ได้ ก็เฉพาะในช่วงที่งบประมาณจัดพิมพ์เป็นของกรมการปกครองเมื่อกระทรวงมหาดไทยโอนงบประมาณในการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนเพื่อแจกแก่นักเรียนที่ยากจนยืมเรียนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจำเลยอาจเข้าใจว่าหน้าที่การขออนุญาตจัดพิมพ์เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ได้การที่จำเลยได้สั่งจ้างจำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนเตรียมไว้ก่อนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะสั่งจ้างพิมพ์นั้นเป็นดุลยพินิจของจำเลยที่จะกระทำได้ ดังนี้ จำเลยที่ 4 ที่ 5กระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดย่อมขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้อง บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยอื่นอีก 5 คน เป็นกรรมการ และลูกจ้างย่อมเข้าใจว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อส่วนราชการมาจ้างพิมพ์ในนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งพิมพ์ในรูปแบบเดียวกับ สมัยที่กรมการปกครองจัดพิมพ์ มีชื่อผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเหมือนกันจำเลยย่อมจะต้องเข้าใจว่าส่วนราชการผู้ว่าจ้าง มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะจ้างพิมพ์ได้ ย่อมไม่จำต้องไปตรวจสอบว่าผู้ว่าจ้างพิมพ์มีลิขสิทธิ์ในการสั่งพิมพ์ตามกฎหมายหรือไม่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องเพราะขาดเจตนา

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนสำหรับของกลางให้ริบ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 6, 7, 8 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าแผนกจำหน่ายของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น และจำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดการฝ่ายการพิมพ์โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเดิมการศึกษาประชาบาลอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์เกี่ยวกับการศึกษาดังกล่าวจัดพิมพ์และจำหน่ายโดยองค์การค้าคุรุสภา คุรุสภาเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครูพ.ศ. 2488 ทำการหารายได้โดยจัดตั้งองค์การค้าคุรุสภาขึ้นซึ่งองค์การค้าดังกล่าวจดทะเบียนการค้าไว้ในนามร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ การจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อนจึงจะจัดพิมพ์ได้ต่อมา พ.ศ. 2509ได้มีการโอนการศึกษาประชาบาลไปอยู่ในสังกัดกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ส่วนทางด้านแบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษาต้องเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ และในการจัดพิมพ์แบบเรียนและแบบพิมพ์ กรมการปกครองต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการเสียก่อน ระหว่าง พ.ศ. 2501-2516กรมการปกครองได้ขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนต่าง ๆเพื่อแจกแก่นักเรียนที่ยากจนยืมเรียน ซึ่งกรมวิชาการได้อนุญาตให้จัดพิมพ์ได้และได้วางเงื่อนไขในการจัดพิมพ์ว่า ให้จัดพิมพ์ตามต้นฉบับที่กรมวิชาการจัดให้ และให้กรมวิชาการพิสูจน์อักษรครั้งสุดท้ายก่อนพิมพ์เพื่อป้องกันความผิดพลาด กับให้มีข้อความที่แบบเรียนว่า พิมพ์แจกห้ามขาย ณ ที่ ๆ เคยบอกราคาไว้หรือที่อื่นใดอันเห็นได้ชัด หากเป็นไปได้ให้จ้างองค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ เมื่ออนุญาตแล้วกรมวิชาการได้มีหนังสือแจ้งให้องค์การค้าคุรุสภาทราบด้วย เมื่อกรมการปกครองได้รับอนุญาตแล้วได้สั่งให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนต่าง ๆ โดยระบุข้อความในหนังสือดังกล่าวว่าสำหรับแจกเด็กนักเรียนยืมเรียนห้ามขาย กับระบุสถานที่พิมพ์หนังสือว่า พิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครองและระบุชื่อผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหลังจาก พ.ศ. 2516 กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยอนุญาตให้กรมการปกครองจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนอีก ต่อมา พ.ศ. 2520กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรชั้นประถมศึกษาและเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2520 มีการประชุมระหว่างผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอธิบดีกรมการปกครองได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลเข้าประชุมแทนและผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลได้มอบให้นายวินัย ชวนประพันธ์ไปประชุมแทนอีกต่อหนึ่ง ดังปรากฏตามรายงานการประชุมครั้งที่ 8/2520 เอกสารหมาย จ.39 ต่อมามีการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามให้สอบสวนเกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ในคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นบริษัทจำเลยที่ 1 และยึดแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่าง ๆซึ่งเป็นของกลางคดีนี้ คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยใน 3 ประเด็นที่โจทก์ฎีกา ทางพิจารณาโจทก์นำสืบตามข้อเท็จจริงที่ได้สรุปไว้แล้วข้างต้น จำเลยนำสืบว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ในปี พ.ศ. 2509 มีการโอนการศึกษาประชาบาลไปอยู่ในสังกัดของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นได้สั่งจ้างจำเลยที่ 1 ให้พิมพ์หนังสือตามหลักสูตรและแบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยให้มีข้อความที่ปกหน้าและปกหลังว่า ห้ามขาย แจกนักเรียนยืมเรียนไม่ระบุราคาขายไม่มีเลขลำดับบอกจำนวนหนังสือ และให้ระบุว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นโดยมีนายพจน์ ภู่อารีย์ จำเลยที่ 5เป็นผู้พิมพ์โฆษณา มีการจ้างจำเลยที่ 1 พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2508ถึงปีเกิดเหตุ ยกเว้นปี พ.ศ. 2517 และ 2518 จำเลยที่ 1ไม่เคยสอบถามเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของหนังสือที่รับจ้างพิมพ์เลยเพราะเห็นว่าเป็นการพิมพ์ให้โรงพิมพ์ซึ่งมีข้าราชการของกรมการปกครองบริหารงานอยู่ และทำการพิมพ์โดยเปิดเผยตลอดมาเหตุที่ต้องจ้างจำเลยที่ 1 พิมพ์หนังสือและแบบพิมพ์ของกลางเพราะโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นมีงานพิมพ์มาก และรับคำสั่งจ้างพิมพ์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งต้องการหนังสือและแบบพิมพ์จำนวนมากและเร่งด่วน นอกจากนี้ยังไม่เคยสอบถามเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์จากผู้จ้างพิมพ์ เพราะเข้าใจว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่าง ๆ ที่สั่งจ้างพิมพ์ได้ขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วประกอบกับระหว่างปี พ.ศ. 2510ถึง พ.ศ. 2516 ทางกรมการปกครองเคยสั่งจ้างให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ของกระทรวงศึกษาธิการมาก่อนในการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสั่งจ้างพิมพ์นี้ได้กำหนดข้อความตลอดจนชนิดหนังสือให้เป็นไปตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้นเห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดีให้งดเสีย โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่าอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 25, 27 พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 7, 8 พระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 มาตรา 19, 57 และข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ซึ่งอัตราโทษในแต่ละข้อหามีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิจึงไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้องและศาลอุทธรณ์ไม่ได้กล่าวถึงข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) ด้วย ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทเช่นกัน เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทุกคนกระทำความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวและตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2520 มาตรา 24, 43พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 19, 57ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และ 268ซึ่งอัตราโทษในแต่ละความผิดจำคุกสูงกว่าสามปีหรือปรับเกินกว่าหกหมื่นบาทมาด้วย และเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกับความผิดต่าง ๆ ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงกรณีเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทเมื่อบทหนักตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติการพิมพ์และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ความผิดบทอื่น ๆ แม้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อหาตามบทกฎหมายดังกล่าวรวมทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 272(1) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นควรรับวินิจฉัยไปเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่สองเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ที่ 5ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 ได้ทราบข้อเท็จจริงตามหนังสือเอกสารหมาย จ.39ที่กระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้กรมการปกครองจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการแต่จะให้องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ และทราบข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.68 อันเป็นหนังสือที่กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการมีไปถึงกรมการปกครองให้สั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุก ๆ จังหวัดสั่งซื้อหนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่าง ๆ จากร้านค้าย่อยขององค์การค้าคุรุสภาภายในจังหวัดนั้น ๆ เพราะได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการใช้หลักสูตรใหม่ครั้งที่ 8/2520เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2520 ซึ่งมีอธิบดีกรมการปกครองและผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาล กรมการปกครองเป็นกรรมการร่วมด้วย อธิบดีกรมการปกครองได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลเข้าประชุมแทนและผู้อำนวยการกองดังกล่าวได้มอบหมายให้นายวินัย ชวนประพันธ์เข้าประชุมแทน นายวินัยจึงเข้าประชุมในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลและตัวแทนอธิบดีกรมการปกครอง ดังนั้นเมื่อผลของการประชุมปรากฏว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้กรมการปกครองจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนอีกต่อไปแต่มอบหมายให้องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ ย่อมถือได้ว่าผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลและอธิบดีกรมการปกครองทราบผลการประชุมแล้วโดยนายวินัยไม่จำเป็นต้องรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวทั้ง 2 นายทราบอีก ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ว่านายวินัยจะได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าประชุมแทนผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลและอธิบดีกรมการปกครองก็ตาม เมื่อบุคคลทั้งสองไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และนายวินัยผู้เข้าประชุมแทนไม่ได้รายงานผลการประชุมให้ทราบ จะถือว่าบุคคลทั้งสองได้รับทราบผลการประชุมตามที่โจทก์กล่าวอ้างได้อย่างไร เมื่อนายวินัยได้รายงานผลการประชุมให้บุคคลทั้งสองทราบจึงจะถือได้ว่าบุคคลทั้งสองทราบผลการประชุมแล้ว นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์รายงานการประชุมครั้งที่ 8/2520 ตามเอกสารหมาย จ.39แล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีหัวข้อประชุมเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนตามหลักสูตรใหม่แต่อย่างใด ทั้งในรายงานการประชุมครั้งที่ 8/2520 หน้า 6 ก็กล่าวถึงในเรื่องนี้เพียงว่า”ประธาน ขอทราบว่าแบบเรียนจะพิมพ์แจกหรือไม่ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาหนังสือชี้แจงว่าแบบเรียนต่าง ๆ ให้องค์การค้าคุรุสภาพิมพ์ขายเจ้าสังกัดและโรงเรียนที่ต้องการจะต้องไปติดต่อกับองค์การค้าคุรุสภาโดยตรงเพื่อที่จะซื้อแจกนักเรียน ต่อข้อถามที่ว่าจะขออนุญาตลิขสิทธิ์พิมพ์เองนั้น กระทรวงได้อนุมัติหลักการไว้แล้วว่า สำหรับแบบเรียนให้องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ทั้งหมด”จากรายงานการประชุมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าที่ประชุมมิได้มีมติในเรื่องนี้แต่อย่างใด คงเป็นเพียงคำชี้แจงของผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาหนังสือให้ที่ประชุมทราบเท่านั้นว่ากระทรวงศึกษาธิการมีหลักการให้องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนแต่เพียงผู้เดียว เมื่อนายวินัยผู้เข้าประชุมไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลและอธิบดีกรมการปกครองจึงไม่มีทางที่จะทราบได้เลยว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้ในการประชุมและผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิจัดพิมพ์ ข้อกล่าวอ้างของโจทก์เป็นการสันนิษฐานและไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนจึงฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า นายสืบบุญ เกตุพิชัย เจ้าหน้าที่ผู้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.68 รับว่าไม่ได้เสนอหนังสือดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาในกรมการปกครองทราบ เป็นการสอดคล้องกันกับที่นายวินัยหลงลืมไม่ได้รายงานผลการประชุม ทั้งกรมการปกครองมีคำสั่งลงโทษนายวินัย และนายสืบบุญเพียงว่ากล่าวตักเตือนซึ่งเป็นโทษเล็กน้อยไม่เหมาะสมกับการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ทั้งสอง ส่อแสดงให้เห็นว่ากรมการปกครองสั่งลงโทษเป็นพิธีเท่านั้นเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่ากรมการปกครองไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย และบุคคลทั้งสองรับสมอ้างดังกล่าวเพื่อช่วยผู้บังคับบัญชาของตนให้พ้นความผิดเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องโจทก์คาดหมายหรือสันนิษฐานเอาเองจะฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ เพราะนายวินัย กับนายสืบบุญอาจละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ไปเพราะความประมาทเลินเล่อมิใช่เพื่อช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาดังที่โจทก์อ้างก็ได้ แม้นายสืบบุญจะเบิกความว่า เหตุที่ไม่ได้เสนอหนังสือเอกสารหมาย จ.68 ต่อผู้บังคับบัญชาเพราะเห็นว่ากรมการปกครองจัดสรรเงินงบประมาณในการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่าง ๆไปให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วเป็นหน้าที่ของจังหวัดต้องดำเนินการตามระเบียบอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องความเข้าใจผิดของนายสืบบุญเองจะฟังเป็นพิรุธแก่จำเลยทั้งสองย่อมไม่ได้สำหรับข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการใช้หลักสูตรใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการครั้งที่ 9/2520ได้มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 8/2520ซึ่งนายเจนวิทย์ สิทธิดำรง ได้เข้าร่วมประชุมทั้งในผู้แทนผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลและอธิบดีกรมการปกครองด้วยอธิบดีกรมการปกครองย่อมต้องทราบผลการประชุมตามเอกสารหมาย จ.39อย่างแน่นอน เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายเจนวิทย์ได้เสนอรายงานการประชุมครั้งที่ 8/2520 ต่ออธิบดีกรมการปกครองและผู้อำนวยการกองการศึกษาประชาบาลหรือไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่าบุคคลทั้งสองทราบผลการประชุมตามเอกสารหมาย จ.39โจทก์ฎีกาต่อไปอีกว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมต้องทราบดีว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจะจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนหรือแบบพิมพ์ต่าง ๆ ได้จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการโดยกรมการปกครองเป็นผู้ขออนุญาตเสียก่อนและจำเลยที่ 4 ที่ 5 ทราบดีว่ากรมการปกครองเป็นผู้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการในการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ในช่วงพ.ศ. 2510 – 2516 การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสั่งซื้อหรือสั่งจ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ให้พิมพ์ของกลางในช่วงที่เกิดเหตุคดีนี้ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 เข้าใจว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ขออนุญาตต่อกระทรวงศึกษาธิการให้จัดพิมพ์ได้แล้วเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องโจทก์สันนิษฐานเอาเองโดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทราบว่ากรมการปกครองต้องขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ต่อกระทรวงศึกษาธิการเสียก่อนจึงจะจัดพิมพ์ได้ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 นั้น แม้จะทราบว่ากรมการปกครองต้องขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ต่อกระทรวงศึกษาธิการก่อนจึงจัดพิมพ์ได้ ก็เป็นช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2510-2516ซึ่งงบประมาณจัดพิมพ์เป็นของกรมการปกครองและกรมการปกครองเป็นผู้จัดพิมพ์ แต่ในช่วงเกิดเหตุคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระทรวงมหาดไทยได้โอนงบประมาณในการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนั้นจึงย่อมมีเหตุอันควรที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 อาจเข้าใจได้ว่าหน้าที่การขออนุญาตจัดพิมพ์เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 4และที่ 5 ได้สั่งจ้างจำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนชั้นประถมปีที่ 1 (ป.1) รวม 6 รายการเตรียมไว้ก่อนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะสั่งจ้างพิมพ์นั้น เห็นว่าเป็นดุลยพินิจของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่จะกระทำเช่นนั้นได้จะฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองย่อมไม่ได้ กล่าวโดยสรุปแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 กระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดย่อมขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3โดยอาชีพและธุรกิจของตนก่อนจะรับพิมพ์เอกสารใดก็น่าจะตรวจสอบหลักฐานการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน อันเป็นวิสัยของปกติชนที่มีอาชีพและธุรกิจดังกล่าวนั้น และหากจะรับจ้างพิมพ์โดยสำคัญผิดว่าทางโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นได้รับอนุญาตแล้วก็น่าจะเป็นเพียงชั่วครั้งคราวและระยะเวลาอันสั้นไม่น่าจะสำคัญผิดต่อเนื่องกันมานาน ทั้งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6ที่ 7 และที่ 8 ก็มีการติดต่อกับโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นประจำรูปคดีและพฤติการณ์ทั้งหลายน่าเชื่อว่าจำเลยทั้ง 6 คนดังกล่าวกระทำผิดตามฟ้องโดยเจตนาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของจำเลยฟังได้ว่า เมื่อการศึกษาประชาบาลโอนมาอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองก็เคยสั่งจ้างโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นพิมพ์หนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาเพื่อจะมอบให้เป็นสมบัติของโรงเรียนต่าง ๆ สำหรับเด็กนักเรียนยืมเรียน มีข้อความว่า ห้ามขายอยู่ที่หน้าปกหนังสือและด้านหลังหนังสือ คำแนะนำในการเรียนกับมีข้อความว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง และชื่อผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ซึ่งโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นก็เคยสั่งจ้างบริษัทจำเลยที่ 1 จัดพิมพ์แบบเรียนดังกล่าว โดยระบุว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นด้วยต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 กรมการปกครองได้จัดสรรงบประมาณในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ไปให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการเอง ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็สั่งจ้างพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น แต่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจัดพิมพ์ให้ไม่ทันเพราะมีจำนวนมากนับล้านเล่ม ต้องสั่งจ้างบริษัทจำเลยที่ 1จัดพิมพ์โดยระบุว่าเป็นการพิมพ์ของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องพิมพ์ตามคำสั่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละจังหวัดระบุมาและต้องพิมพ์ข้อความว่าห้ามขายให้นักเรียนยืมเรียน คำแนะนำในการเรียนและพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นกับชื่อผู้พิมพ์ผู้โฆษณาซึ่งเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไว้ด้วยเช่นเดิม สำหรับเครื่องหมายต่าง ๆก็ต้องพิมพ์ให้เหมือนกับแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการนอกจากนี้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นก็ขึ้นอยู่กับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมการปกครองระดับผู้อำนวยการกองอาสารักษาดินแดนมาเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ศาลฎีกาเห็นว่าบุคคลภายนอกเช่นจำเลยทั้ง 6 คนดังกล่าวย่อมเข้าใจว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อส่วนราชการมาจ้างพิมพ์หรือจัดการติดต่อพิมพ์ในนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้ว่าจ้างซึ่งก็พิมพ์ในรูปแบบเดียวกันกับสมัยที่กรมการปกครองให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจัดพิมพ์และโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นว่าจ้างจำเลยที่ 1 จัดพิมพ์ไม่มีสิ่งใดผิดกันเลย โดยเฉพาะต้องระบุในหนังสือแบบเรียนว่า ห้ามขาย เป็นหนังสือสำหรับให้นักเรียนยืมเรียน มีคำแนะนำในการเรียนและระบุว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น มีชื่อผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเหมือนกัน ตามความเข้าใจของปกติชนจำเลยทั้ง 6 ย่อมจะต้องเข้าใจว่าส่วนราชการผู้ว่าจ้างมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ของกลางในคดีนี้ได้ และกรณีย่อมไม่จำต้องไปตรวจสอบว่าผู้ว่าจ้างพิมพ์มีลิขสิทธิ์ในการพิมพ์ตามกฎหมายหรือไม่เพราะกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็ดี กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการก็ดีเป็นส่วนราชการเหมือนกัน เหตุผลอื่น ๆที่แสดงให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 6 ดังกล่าวไม่เป็นความผิดนั้น ก็ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองแล้วข้อกล่าวอ้างของโจทก์ส่วนใหญ่ที่ว่าจำเลยทั้ง 6 มีเจตนากระทำผิดนั้นเป็นเรื่องการสันนิษฐานเป็นส่วนใหญ่ จะฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้ง 6ย่อมไม่ได้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 6 ดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง เพราะขาดเจตนานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share