แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31วรรคแรก กำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าต่อปี ไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำ ป.พ.พ.มาตรา 224 มาใช้บังคับหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2531 ได้รับเงินเดือนเดือนละ 16,500 บาทเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2534 โจทก์ได้รับคำสั่งด้วยวาจาให้ไปช่วยทำงานที่บริษัทอื่น จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 หลังจากครบกำหนดแล้วในวันที่ 1 มิถุนายน 2534 โจทก์กลับมาทำงานที่จำเลย นับแต่โจทก์กลับมา จำเลยไม่จ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์ถือว่าเป็นการเลิกจ้างขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 105,600 บาทค่าชดเชยเป็นเงิน 99,000 บาท และโบนัส 1 เดือนเป็นเงิน 16,500บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี
จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างให้โจทก์เป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่13 มิถุนายน 2531 จนถึงวันที่ 13 เมษายน 2534 ในอัตราเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 16,500 บาท จำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ไปช่วยงานที่บริษัทอื่น ไม่ได้ค้างค่าจ้างและไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2534 โจทก์ขอลาออก จำเลยตกลงให้โจทก์ลาออกตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2534 ต่อมาเดือนมิถุนายน 2534 โจทก์มาขอสมัครเป็นลูกจ้างจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรับ ที่โจทก์ทำงานให้จำเลยต่อมาเป็นการที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์ทำงานเป็นเรื่อง ๆ ในฐานะผู้รับจ้าง ไม่ใช่ทำงานในฐานะลูกจ้าง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย แล้วต่อมาโจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ 13 เมษายน 2534 และตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2534 โจทก์กลับทำงานในลักษณะงานหน้าที่เดิมให้แก่จำเลย เป็นการทำที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2534 และฟังว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2534 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน 12 วัน จำเลยไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดือนละ 16,500 บาทให้แก่โจทก์คิดเป็นเงินรวม 105,600 บาท โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินดังกล่าวตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31วรรคแรก แต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เพราะยังไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทำงาน ถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏเหตุใดโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัส ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินโบนัสต่อเมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันไว้หรือนายจ้างพิจารณาจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 105,600บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12ธันวาคม 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 15ต่อปี ไม่ถูกต้องเพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224ซึ่งโจทก์คงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง ซึ่งการที่จำเลยผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 31 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และ ข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 กำหนดเรื่องดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้โดยเฉพาะว่า “ถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง… ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี” ดังนั้นจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา224 มาอ้างเพื่อจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีหาได้ไม่ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.