แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องโอนที่ดินคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นการกระทำในขั้นตอนของการจัดกิจการและทรัพย์สิน ของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 และ 24 แต่ตามหนังสือของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงแจ้งข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายให้ผู้ร้องทราบ แม้ในตอนท้ายจะมี ข้อความขอให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 หาก ไม่ปฏิบัติตาม ผู้คัดค้านจะดำเนินการตามกฎหมายก็ตาม ก็มีลักษณะเป็นเพียงคำชี้แนะของผู้คัดค้าน มิใช่เป็นคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ผู้ร้องต้องปฏิบัติตาม ถ้าผู้ร้องเห็นว่า คำชี้แนะไม่ถูกต้อง ผู้ร้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ ฉะนั้น ลำพัง หนังสือของผู้คัดค้านที่แจ้งไปยังผู้ร้องดังกล่าว จึงยังไม่เป็นการ กระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 146 ผู้ร้องจึงไม่มี อำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งกลับหรือแก้ไขได้ ฎีกาผู้ร้องที่ว่า ภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ผู้คัดค้านมิได้ตรวจสอบอายัดที่ดินของลูกหนี้ที่ 1โดยเร็ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับซื้อที่ดินในภายหลังได้ รับความเสียหาย และผู้คัดค้านไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอน การโอนที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นโมฆะเพราะคดีขาดอายุความ เป็นข้อที่ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้เป็นประเด็นประกอบ กับคดีนี้ศาลชั้นต้นงดไต่สวนคำร้องโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ แล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยข้อกฎหมาย จึงเป็นการที่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำร้องขอของ ผู้คัดค้านซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153 คดีจึงเสร็จไปทั้งเรื่องตามปัญหาข้อกฎหมายดังที่วินิจฉัยแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาผู้ร้องอีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2535 ทางสอบสวนของผู้คัดค้านพบว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2536 ลูกหนี้ที่ 1 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 25557 ถึง 25560 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ให้แก่นายอนุรักษ์ บุญทรัพย์ ต่อมามีการรวมที่ดินดังกล่าวทั้งสี่แปลงเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 25557 และแบ่งแยกเป็นที่ดินแปลงย่อยหลายแปลงรวมทั้งที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 ที่ผู้ร้องรับโอนซึ่งเป็นการโอนภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดแล้วผู้คัดค้านจึงมีหนังสือที่ ยธ.0407/127 ลงวันที่ 13 มกราคม 2541 แจ้งให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 ดังกล่าวคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามผู้คัดค้านจะดำเนินการตามกฎหมาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 จากนายอนุรักษ์ บุญทรัพย์ โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน มิได้ซื้อมาจากลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 1 ไม่เคยทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 25557 ถึง 25560 ให้แก่นายอนุรักษ์ ผู้ร้อง จึงไม่ต้องโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 คืนให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านที่แจ้งมาตามหนังสือที่ ยธ.0407/127 ลงวันที่13 มกราคม 2541
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การโอนที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นการโอนภายหลังวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะหนังสือที่ผู้คัดค้านแจ้งไปยังผู้ร้องเป็นเพียงแจ้งให้ผู้ร้องพิจารณาดำเนินการโอนเท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องต้องร้องขอให้กลับหรือแก้ไขตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ขอให้ยกคำร้อง
ก่อนวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้กลับหรือแก้ไขตามหนังสือของผู้คัดค้านที่แจ้งให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 หรือไม่
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของ ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่าผู้ร้องมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งกลับหรือแก้ไขตามหนังสือของผู้คัดค้านที่แจ้งให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร คืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 หรือไม่ ตามสำเนาหนังสือที่ ยธ.0407/127 ท้ายคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายที่ผู้คัดค้านแจ้งไปยังผู้ร้องมีใจความสำคัญว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ทางสอบสวนของผู้คัดค้านพบว่า ลูกหนี้ที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 25557 ถึง 25560 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร รวม 4 แปลง ให้แก่นายอนุรักษ์ บุญทรัพย์ ต่อมามีการรวมที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 25557 และได้แบ่งแยกเป็นที่ดินแปลงย่อย รวมทั้งที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 อันเป็นการโอนภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดซึ่งลูกหนี้ที่ 1 ไม่สามารถกระทำได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 การโอนที่ดินดังกล่าวตกเป็นโมฆะผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 ต่อจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดิน ขอให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือนี้หากไม่โอนคืนภายในกำหนดผู้คัดค้านจะดำเนินการตามกฎหมายเห็นว่าการที่ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องโอนที่ดินคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นการกระทำในขั้นตอนของการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 แต่ตามหนังสือของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงแจ้งข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายให้ผู้ร้องทราบ แม้ในตอนท้ายจะมีข้อความขอให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามผู้คัดค้านจะดำเนินการตามกฎหมายก็ตาม ก็มีลักษณะเป็นเพียงคำชี้แนะของผู้คัดค้านมิใช่เป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องต้องปฏิบัติตาม ถ้าผู้ร้องเห็นว่าคำชี้แนะไม่ถูกต้อง ผู้ร้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ หนังสือของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงหามีผลบังคับผู้ร้องไม่ แม้ต่อมาหากปรากฏว่าผู้คัดค้านดำเนินคดีแก่ผู้ร้อง ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าผู้ร้องต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 เพราะศาลอาจมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้น ลำพังหนังสือของผู้คัดค้านที่แจ้งไปยังผู้ร้องดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งกลับหรือแก้ไขตามหนังสือของผู้คัดค้านที่แจ้งให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27311 ดังกล่าวคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 ส่วนฎีกาผู้ร้องที่อ้างว่าภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดผู้คัดค้านมิได้ตรวจสอบอายัดที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 โดยเร็วเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับซื้อที่ดินในภายหลังได้รับความเสียหาย และผู้คัดค้านไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นโมฆะเพราะคดีขาดอายุความนั้นเป็นข้อที่ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นในคำร้องประกอบกับคดีนี้ศาลชั้นต้นงดไต่สวนคำร้องโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยข้อกฎหมาย จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตามคำร้องขอของผู้คัดค้านซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 คดีจึงเสร็จไปทั้งเรื่องตามปัญหาข้อกฎหมายดังที่วินิจฉัยแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาผู้ร้องอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของ ผู้ร้องศาลฎีกาเห็นด้วยฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน