คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติถึงเรื่องพยานเอกสารมหาชนไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำมาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันว่าด้วยการนำสืบเอกสารมหาชนมาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 226 บัญญัติไว้
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยอ้างคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานจำเลยแต่จำเลยมิได้ถามค้านโจทก์หรือพยานโจทก์ถึงว่าได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนอย่างใดไว้ ศาลจึงรับเอาคำให้การชั้นสอบสวนมาเป็นข้อเสื่อมเสียแก่คดีโจทก์ไม่ได้นั้นปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฝ่ายโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลชั้นต้นจดแจ้งข้อโต้แย้งนี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 และมาตรา 226(2)ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่โจทก์หาได้ปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2505 จำเลยได้ครอบครองเรือลำเลียง “จวง” พร้อมด้วยเครื่องจักร เครื่องใช้ เครื่องอะไหล่ประจำเรือ รวมราคา 110,500 บาทของนายดำรงค์ ฤกษ์ชัยรัศมีระหว่างวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2506 จำเลยได้บังอาจเบียดบังเอาเรือลำเลียง “จวง” พร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องใช้และเครื่องอะไหล่ประจำเรือเป็นของตนโดยทุจริต ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้วภายในอายุความ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหม้อน้ำหนึ่งใบที่อายัดไว้ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคา 80,500 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

นายดำรงค์ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต

ศาลแขวงธนบุรีไม่เชื่อว่าจำเลยได้ขายเรือลำเลียง “จวง” ไปโดยทุจริตเบียดบังดังโจทก์ฟ้อง แต่ทั้งสองฝ่ายจะมีสิทธิและมีส่วนได้กันอย่างไร รวมทั้งหม้อน้ำที่ขออายัดไว้เป็นของกลางด้วยนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยพนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอัยการรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย

โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ร่วมผู้เดียวฎีกา

ศาลแขวงธนบุรีรับฎีกาแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฎีกาข้อ 3 ซึ่งมีใจความสำคัญว่าโจทก์ร่วมได้ประมูลซื้อเรือ”จวง” จากกรมอู่ทหารเรือ และได้จดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องดังหนังสือสัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างอันเป็นเอกสารมหาชนเรือจวงก็ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมผู้เดียว การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยและผู้อื่นมีหุ้นส่วนอยู่ในเรือจวงด้วยเป็นการสืบแก้ไขเอกสารจึงไม่มีสิทธินำสืบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องพยานเอกสารมหาชนไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำมาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันว่าด้วยการนำสืบเอกสารมหาชนมาใช้บังคับ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 226 บัญญัติไว้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง ฯลฯ เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร เมื่อเป็นดังนี้ย่อมแสดงว่ากฎหมายยอมให้จำเลยนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องที่โจทก์ร่วมอ้างว่าเรือ “จวง” เป็นกรรมสิทธิ์ของตนแต่ผู้เดียวได้

ส่วนฎีกาข้อ 4 ของโจทก์ร่วมมีความว่า จำเลยอ้างคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานจำเลย แต่จำเลยมิได้ถามค้านโจทก์หรือพยานโจทก์ว่าได้ให้การในชั้นสอบสวนอย่างไร ศาลจึงรับเอาคำให้การชั้นสอบสวนมาเป็นข้อเสื่อมเสียแก่คดีโจทก์ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฝ่ายโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลจดข้อโต้แย้งนี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหรือยื่นคำโต้แย้งคัดค้านไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 และ 226(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่ฝ่ายโจทก์หาได้ปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้

พิพากษายืน

Share