คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยองพ.ศ.2527มาตรา5ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมมาตรา5นี้เน้นให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทั้งนี้นอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดตามบัญชีราคาประเมินที่ดินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งเป็นบัญชีกำหนดราคาที่ดินโดยเอาตำบลถนนและทะเลเป็นหลักการประเมินราคาที่ดินเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและเป็นการประเมินอย่างกว้างๆราคาที่ดินตามบัญชีดังกล่าวย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไปส่วนเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแม้จำเลยมีความประสงค์จะจัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้มากขึ้นก็ตามแต่ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ.2522มาตรา6กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคลซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่ามีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วยเมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรต้องใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาจึงจะถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรมการที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตามการแบ่งเป็นหน่วยในบัญชีกำหนดราคาประเมินที่ดินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นเป็นการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยไม่คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งที่แท้จริงของที่ดินของโจทก์และไม่ได้คำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยไม่ชอบด้วยมาตรา5แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าวข้างต้นแต่โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯนั้นที่ดินพิพาทมีราคาที่ซื้อขายกันจริงเป็นราคาเท่าใดจึงกำหนดเงินค่าทดแทนให้ตามราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายหลังจากพระราชกฤษฎีกาฯใช้บังคับประมาณ3เดือนอันเป็นเวลาใกล้เคียงกับการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายไว้เป็นราคาซื้อขายกันจริงและเป็นราคาที่ตรงตามสภาพและที่ตั้งของที่ดินแล้วและถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 20 แปลงที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง รวมเนื้อที่ดิน254 ไร่ 1 งาน 34.1 ตารางวา ซึ่งถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับนิคมอุตสาหกรรม จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจใช้ชื่อว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเรียกชื่อย่อว่า “กนอ.”มีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาซึ่งที่ดินที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม ปรับปรุงที่ดินเพื่อให้บริการ ตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเป็นต้น จำเลยกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนดังกล่าวรวมเป็นเงิน 3,803,438.75 บาททั้ง ๆ ที่ที่ดินบริเวณตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง ในขณะที่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉางอำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2525มีราคาซื้อขายกันตารางวาละ 200 บาท เป็นอย่างต่ำ โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2528ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตามความเป็นจริงและเป็นธรรมตามราคาที่มีการซื้อขายกันจริงตารางวาละ 200 บาท ในขณะนั้นเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 20,346,820 บาท แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงต้องฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่ยังขาดจากราคาที่เป็นจริงและเป็นธรรมจำนวน 16,543,501.25 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ 20 แปลงเป็นเงิน 3,803,618.75 บาท ไม่ใช่ 3,803,438.75 บาท ตามฟ้องโดยจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนทุกแปลงอย่างเหมาะสมกับสภาพและบริเวณที่ตั้งของที่ดินถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉางอำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2525ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพ.ศ. 2527 ใช้บังคับเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2527 เป็นต้นไป โดยให้จำเลยเป็นผู้กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามกฎหมาย และความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกานั้นราคาค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดให้โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น3,803,618.75 บาท นั้น จำเลยพิจารณาจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าพนักงานที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ที่ตั้งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2525-2527 ประกอบการพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ และวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 เป็นราคาเหมาะสมกับราคาที่ดินของโจทก์ซึ่งมีสภาพอยู่ห่างไกลและเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างอยู่เลย ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินของโจทก์ในบริเวณท้องที่ที่มีการเวนคืนมีราคาซื้อขายกันอย่างต่ำตารางวาละ 200 บาทนั้น ไม่เป็นความจริง โจทก์รับซื้อมาจำนองไว้ดังกล่าวเป็นที่ดินหลายเจ้าของที่ส่อแสดงว่าโจทก์ได้ระดมซื้อที่ดินและทำจำนองที่ดินไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในลักษณะที่มีการสมยอมกันเพื่อมุ่งหวังที่จะได้เงินค่าทดแทนจำนวนสูงจากทางราชการในลักษณะค้ากำไร โจทก์ใช้สิทธินำคดีมาฟ้องโดยไม่สุจริตไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนจากจำเลยเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใดตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527มาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2525 ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม”มาตรา 5 นี้เน้นให้จำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือวันที่ 10 ธันวาคม 2525 ทั้งนี้ นอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดตามบัญชีราคาประเมินที่ดินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอำเภอเมืองระยอง พ.ศ. 2525 ถึง 2527ซึ่งเป็นบัญชีกำหนดราคาที่ดินโดยเอาตำบล ถนน และทะเลเป็นหลักการประเมินราคาที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาประเมินที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป การพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่จะถูกเวนคืนต้องพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่เป็นอยู่จริงในแต่ละแปลง มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่าที่ตั้งของที่ดินอยู่ในตำบลใด ห่างจากถนนหรือทะเล ตรงตามบัญชีกำหนดราคาประเมินที่ดินดังกล่าวในหน่วยใด ก็กำหนดให้ตามนั้น ส่วนเหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืน แม้จำเลยมีความประสงค์จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นก็ตามแต่ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522มาตรา 6 กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคล ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่ามีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย จำเลยย่อมได้รับผลประโยชน์จากที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใด ก็ควรจะต้องใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จึงจะถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรม การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ทุกแปลงตามการแบ่งเป็นหน่วยในบัญชีกำหนดราคาประเมินที่ดินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แสดงให้เห็นว่าจำเลยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งที่แท้จริงของที่ดินของโจทก์ และไม่ได้คำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยวิธีการของจำเลยในการกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ยังไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อเดือนกันยายน2526 จำเลยซื้อที่ดินในตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยองจากเจ้าของเดิม 4 แปลง โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่า ที่ดินดังกล่าวแปลงใดอยู่ห่างที่ดินพิพาทระยะทางเท่าใด สภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวแปลงใดมีสภาพและที่ตั้งเหมือนหรือคล้ายคลึงกับที่ดินพิพาทแปลงไหนบ้าง จึงไม่อาจนำเอาราคาซื้อขายของที่ดินดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์เพื่อเปรียบเทียบกับที่ดินพิพาทได้ ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 254 ไร่เศษในราคาตารางวาละ 150 ถึง 200 บาท หรือไร่ละ 60,000 บาทถึง 80,000 บาท เพื่อปลูกมันสำปะหลัง ในการซื้อที่ดินที่ ๆของโจทก์เป็นผู้ติดต่อให้และได้ติดต่อขอจำนองที่ดินแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด ราคาที่จดทะเบียนซื้อขายแจ้งตามราคาประเมินของกรมที่ดินเพราะเสียค่าธรรมเนียมน้อยลงโจทก์ก็ไม่นำเจ้าของที่ดินเดิมมายืนยันต่อศาลว่า ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไร่ละ 60,000 บาท ถึง 80,000 บาท ดังที่โจทก์อ้างและที่ดินที่โจทก์ซื้อทั้งหมดมี 20 แปลง จำนวนเนื้อที่ 254 ไร่เศษสภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวย่อมแตกต่างกัน จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาในราคาเดียวกัน ทั้งโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่เคยประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาก่อนและเป็นเพียงลูกจ้างของนายบุญทรง จึงไม่น่าเชื่อว่า โจทก์กู้ยืมเงินจำนวนมากมาซื้อที่ดินเพื่อใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมพฤติการณ์เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมากว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ซึ่งเชื่อว่าก่อนที่โจทก์ติดต่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของเดิม โจทก์ทราบข้อมูลอยู่แล้วว่าจะมีการเวนคืนที่ดินในบริเวณที่ดินดังกล่าว และขณะจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวในวันที่ 4 มีนาคม 2526 โจทก์ทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉางอำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2525ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2525 แล้วและโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อดังกล่าวอาจถูกจำเลยเวนคืนดังนั้น หลักฐานเกี่ยวกับราคาที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่โจทก์ต้องทำไว้ใช้อ้างเพื่อเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยราคาที่ดินตามที่จดทะเบียนซื้อขายไว้ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่งซึ่งนำมาใช้อ้างเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ จึงไม่เชื่อว่าโจทก์จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาที่ต่ำกว่าที่ตกลงซื้อมาเพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนและนิติกรรมน้อยลงดังที่โจทก์อ้าง และเห็นว่าค่าทดแทนสำหรับที่ดินพิพาททั้งยี่สิบแปลงที่จำเลยกำหนดกับราคาที่จดทะเบียนซื้อขายของที่ดินพิพาททั้งยี่สิบแปลง แต่ละแปลงเปรียบเทียบกันแล้วอัตราเฉลี่ยต่อไร่เป็นจำนวนเงินที่แตกต่างกันไม่มาก บางแปลงค่าทดแทนจำเลยกำหนดสูงกว่าราคาที่จดทะเบียนซื้อขายไว้ เชื่อว่า ราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายไว้เป็นราคาที่ซื้อขายกันจริง และเป็นราคาที่ตรงตามสภาพและที่ตั้งของที่ดินแม้จดทะเบียนซื้อขายภายหลังพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับประมาณ 3 เดือน ก็ตามแต่ก่อนไปจดทะเบียนซื้อขายมีการเจรจากันโดยโจทก์ต้องใช้เวลาติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน จึงเชื่อว่า เวลาที่ตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นเวลาใกล้เคียงกับวันใช้พระราชกฤษฎีกาฯ ถือได้ว่าราคาที่ดินพิพาทที่จดทะเบียนซื้อขายไว้เป็นราคาตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ซึ่งยังปรากฏว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาตามความเป็นธรรมจำนวน 14 แปลง รวมเป็นค่าทดแทนที่ดินพิพาทที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาตามความเป็นธรรม ซึ่งจำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นทั้งสิ้นเป็นเงินรวม 403,989.50 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากยอดเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนี้ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคาร ตั้งแต่วันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนคือวันที่ 7 มกราคม 2529 ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527มาตรา 9 วรรคสี่
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 403,989.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารนับตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2529จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share