แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันว่าต่างฝ่ายต่างจะลงหุ้นโดยชำระเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการฝ่ายละครึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนกันตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1026แล้วแม้ฝ่ายหนึ่งจะไม่ส่งเงินหรือทรัพย์สินตามที่ตกลงก็หาทำให้สัญญาเข้าหุ้นส่วนดังกล่าวเสียไปไม่ แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมลงทุนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนก็จะต้องบอกเลิกสัญญาเสียก่อนเมื่อจำเลยยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์สัญญาร่วมทุนระหว่างโจทก์จำเลยจึงยังไม่เลิกกันโจทก์จึงมีสิทธิขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาร่วมลงทุนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7227 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 35 ห้องในราคา 12,000,000 บาท จากนายกระจ่าง โตประเสริฐ เพื่อแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยแล้วขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่บุคคลอื่นต่อไป โดยมีข้อสัญญากันว่าการร่วมลงทุนนี้จะขาดทุนหรือกำไรคู่สัญญาตกลงรับผิดชอบร่วมกันคนละครึ่ง โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการต่าง ๆ โดยจำเลยสัญญาว่าจะแจ้งผลการดำเนินกิจการและแสดงบัญชีรับจ่ายให้โจทก์ทราบเป็นระยะแต่จำเลยไม่เคยแจ้งผลและแสดงบัญชีแก่โจทก์ จำเลยได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายแก่บุคคลอื่นได้แล้วโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยแจ้งผลการดำเนินกิจการและแสดงบัญชีรับจ่ายแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย นอกจากนี้ยังมีบุคคลอื่นมาติดต่อขอซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่แบ่งเป็นแปลงย่อยกับโจทก์หลายราย โจทก์แจ้งจำเลยแล้ว แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมขายอันเป็นการละเมิดวัตถุประสงค์ของสัญญาร่วมลงทุนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเหลือวิสัยที่โจทก์จำเลยจะร่วมลงทุนต่อไปได้ ขอให้มีคำสั่งเลิกสัญญาร่วมลงทุนและให้จำเลยชำระบัญชี หากไม่สามารถชำระบัญชีได้ ขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และหรือจ่าศาลเป็นผู้ชำระบัญชีแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า เดิมจำเลยเช่าตึกแถว 2 คูหา ในจำนวน 35 คูหาจากนายกระจ่าง โตประเสริฐ ต่อมาโจทก์ได้มาบอกขายตึกแถว 2 คูหาที่จำเลยเช่าอยู่ให้แก่จำเลย จำเลยแจ้งว่าจะซื้อโดยตรงกับเจ้าของอยู่แล้ว โจทก์จึงชวนจำเลยเข้าหุ้นส่วนและตกลงเข้าหุ้นส่วนกันคนละครึ่งซื้อที่ดินและตึกแถวทั้งหมดจากนายกระจ่างเป็นเงิน 12 ล้านบาท แบ่งชำระเป็นเงินมัดจำในวันทำสัญญา 3 แสนบาท และชำระเป็นงวด ๆ ละ 3 ล้านบาท 2 งวดหลังจากวันทำสัญญา 4 เดือน และ 7 เดือน ตามลำดับ ส่วนเงินที่เหลือ5.7 ล้านบาท จะชำระพร้อมกับจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์โดยนัดทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนายกระจ่างวันที่ 6 มีนาคม 2530ถึงวันนัดโจทก์ไม่มีเงินส่วนของตนมาวางมัดจำและขอให้จำเลยออกแทนไปก่อนจำเลยจึงออกเงิน 300,000 บาท วางมัดจำไปและทำสัญญาจะซื้อจะขายกันโดยโจทก์จำเลยร่วมกันลงชื่อในช่องผู้จะซื้อหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้วโจทก์ไม่นำเงินค่ามัดจำส่วนของตนจำนวน 150,000 บาท มาชำระคืนแก่จำเลย จำเลยได้ทวงถามหลายครั้ง ในที่สุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2530โจทก์จำเลยจึงได้ทำสัญญาร่วมลงทุนตามฟ้องขึ้น และโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 150,000 บาท ให้แก่จำเลยเป็นการชำระค่าหุ้นส่วนของตนแต่เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยได้ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการรังวัดแบ่งแยกที่ดินและดำเนินการกับผู้เช่าอาคารทั้ง 35 คูหา ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำเลยแจ้งโจทก์ด้วยวาจาทุกเดือนว่าให้นำเงินค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งจำนวน 435,152 บาท มาชำระแต่โจทก์ไม่เคยช่วยเหลือออกเงินค่าใช้จ่ายหรือแรงงาน และเมื่อครบกำหนดชำระเงินงวดแรกแก่ผู้จะขาย โจทก์ก็ไม่สามารถหาเงินส่วนของตนมาชำระได้ จำเลยต้องหาเงินเพิ่มอีก 1.5 ล้านบาท จนครบ 3 ล้านบาท ไปชำระงวดแรกเพื่อไม่ให้ถูกผู้จะขายบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำ สัญญาร่วมลงทุนตามฟ้องเป็นโมฆะ เพราะสัญญาข้อ 4 ยกเว้นการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1026 และเพราะวัตถุประสงค์แห่งสัญญาร่วมลงทุนเป็นการพ้นวิสัยเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถลงหุ้นหรือร่วมขาดทุนในส่วนของตนได้ จำเลยดำเนินธุรกิจนี้เป็นการส่วนตัวมาโดยตลอด และโจทก์ได้แจ้งจำเลยว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะลงหุ้นหรือรับผิดชอบร่วมกับจำเลยได้ จำเลยไม่มีหน้าที่ใดต้องแจ้งผลการดำเนินกิจการและแสดงบัญชีรับจ่ายต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน และให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเข้าหุ้นกันซื้อที่ดินและตึกแถวจากนายกระจ่างโตประเสริฐ ในราคา 12,000,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทั้งนี้เพื่อทำการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นแปลงย่อยขายพร้อมตึกแถว จำเลยได้ออกเงินค่ามัดจำตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวรวม 300,000 บาท เป็นการออกแทนส่วนของโจทก์จำนวน 150,000 บาท ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2530 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาร่วมลงทุนกันปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 และโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 150,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 มอบให้จำเลยไว้ เมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 โจทก์จำเลยเคยเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องนายกระจ่างโตประเสริฐ เป็นจำเลยที่ศาลแพ่งเกี่ยวกับที่ดินและตึกแถวที่ซื้อขายกันนี้ คดีตกลงกันได้ มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้วปรากฏตามเอกสารหมาย ล.11
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์จำเลย ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1026 หรือไม่ และสัญญาดังกล่าวเลิกกันแล้วเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีเงินลงทุนและไม่ได้ลงแรงหรือทรัพย์สินอื่นใดเลย จำเลยเป็นฝ่ายลงเงินและแรงงานมาฝ่ายเดียวโดยตลอดตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงปัจจุบันสัญญาร่วมลงทุนจึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 1026 นั้น เห็นว่าตามสัญญาร่วมลงทุนเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2 ระบุว่า การร่วมลงทุนตามสัญญานี้ และการดำเนินกิจการจะขาดทุนหรือกำไรทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรับผิดชอบร่วมกันคนละครึ่ง และข้อ 3.2 ระบุว่าการชำระเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ข้อ 2.2, 2.3 และ 2.4 ให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุนฉบับนี้ซึ่งหมายถึงให้ทั้งสองฝ่ายคือโจทก์จำเลยชำระคนละครึ่งข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่า ทั้งโจทก์จำเลยต่างให้สัญญาซึ่งกันและกันว่าต่างฝ่ายจะลงหุ้นโดยชำระเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการฝ่ายละครึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนกันระหว่างโจทก์จำเลย ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วย ในห้างหุ้นส่วนตามนัยแห่งมาตรา 1026 แล้ว แม้ฝ่ายหนึ่งจะไม่ส่งเงินหรือทรัพย์สินตามที่ตกลงกันมาลงหุ้น ก็หาทำให้สัญญาเข้าหุ้นส่วนกันดังกล่าวเสียไปไม่สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์จำเลย จึงไม่ขัดต่อมาตราดังกล่าว
ส่วนปัญหาที่ว่า สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันแล้วเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยในฐานะหุ้นส่วนก็จะต้องบอกเลิกสัญญาเสียก่อน จำเลยนำสืบว่าได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ด้วยวาจาแล้วตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2530 แต่ตามทางนำสืบของจำเลยเองปรากฏว่า หลังจากวันดังกล่าวจำเลยยังปฏิบัติต่อโจทก์เหมือนโจทก์ยังคงเป็นหุ้นส่วนตามสัญญาร่วมลงทุนอยู่ อาทิ การร่วมกับโจทก์ฟ้องนายกระจ่าง โตประเสริฐ จนมีการประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.11 นอกจากนั้นจำเลยยังให้ภาพถ่ายโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกแล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายแก่โจทก์ เพื่อไปติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารมาลงหุ้นส่วนของโจทก์ตามสัญญาร่วมลงทุน เป็นต้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนกับโจทก์แล้ว สัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์จำเลยจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและมีการชำระบัญชีได้
พิพากษายืน