คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการขายทอดตลาดทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงสุด 3,000,000 บาทเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้เคาะไม้ขายไปในราคาดังกล่าว แต่ เมื่อได้ปรึกษา ป. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดี และวางทรัพย์ภูมิภาคแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีถามผู้เข้าสู้ราคา ว่าจะมีใครให้ราคาสูงกว่าที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอไว้อีกหรือไม่ตาม ที่ ป. แนะนำปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์เสนอเพิ่มราคาเป็น3,500,000 บาท ป.จึง อนุมัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคา3,500,000 บาท การดำเนินการขายทอดตลาด เช่นนี้ถือได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำต่อเนื่องตาม ระเบียบและเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้าสู้ราคากันอย่างเต็มที่และ ยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการขายทอดตลาดเพื่อรักษาผลประโยชน์ ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุด หาใช่เป็นการที่ผู้ทอดตลาดถอนทรัพย์ จากการขายทอดตลาดโดยปริยายไม่จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่โจทก์เริ่มฟ้องคดีจนถึงวันขายทอดตลาดได้เป็นเวลา เกือบ3 ปี ได้ทำการขายทอดตลาดมาเป็นครั้งที่ 11 และราคา ที่ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลได้ก็สูงกว่าราคาปานกลางที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้อีกทั้งยังสูงกว่าราคาที่ผู้แทนโจทก์เคย กำหนดว่าควรขายได้เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบที่จะอนุมัติให้ ขายได้.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ยืม ขายลดตั๋วเงินและจำนอง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน1,011,881.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่27 กุมภาพันธ์ 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ชำระหนี้เงินยืมเป็นเงิน 966,666.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน 641,443.32 บาท นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกิน 40,859.06บาท) และชำระหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน 700,431.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่13 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 31,849.31 บาท) หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จนครบกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1512 ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนายธวัชชัย วงศ์วานิชกังวาฬ เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 3,500,000 บาท
จำเลยยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบเพราะจำเลยไม่ได้รับหมายนัดแจ้งวันขาย ผู้เข้าสู้ราคามีเพียง 2 คนซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันและสมรู้หรือฮั้วกันในการประมูลทำให้การขายทอดตลาดได้ราคาต่ำมากขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบ เพราะผู้ซื้อเป็นฝ่ายเดียวกันสมรู้กันประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่สุจริต การขายทอดตลาดไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ ราคาที่ขายต่ำกว่าราคาจริงขอให้เพิกถอนคำสั่งขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีและประกาศขายทอดตลาดใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า การส่งหมายแจ้งวันนัดขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบ ราคาที่ขายเป็นราคาที่เหมาะสมกับทรัพย์ที่ขายที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ฉ้อฉลหรือหลอกลวงจำเลยไม่มีผลต่อการขายทอดตลาด ขอให้ยกคำร้องของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1512 ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในประการแรกว่า การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นายอรัญ เจียกงูเหลือม พยานจำเลยเบิกความว่าในวันนั้นมีผู้เข้าสู้ราคาเพียง 2 คน ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 3,000,000 บาท พยานในฐานะผู้แทนโจทก์คัดค้านว่าราคายังต่ำอยู่ นายชาตรี สุทธิวานิช เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดทำรายงานเสนอต่อนายปกรณ์ พูนทวี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 3 ขณะนั้น ผู้เข้าสู้ราคารายอื่นกลับไปหมดแล้ว คงเหลือแต่พยานและฝ่ายผู้ซื้อทรัพย์อยู่รอฟังว่าจะอนุมัติขายหรือไม่ รออยู่ประมาณ 15 นาที นายชาตรีสุทธิวานิช ออกมาพบกับผู้ซื้อทรัพย์แล้วบอกว่าราคา 3,000,000 บาทไม่สามารถขายได้ ถ้าให้ราคาเพิ่มเป็น 3,600,000 บาท จะพิจารณาให้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ โดยนายชาตรี สุทธิวานิชไม่ได้ประกาศคำพูดดังกล่าวให้บุคคลทั้งหลายได้ยิน เพียงพูดเป็นส่วนตัวระหว่างนายชาตรี สุทธิวานิชกับผู้ซื้อทรัพย์ หลังจากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ได้ปรึกษากับนายชาตรี สงศ์วนิชกังวาฬ ซึ่งเป็นพี่น้องกันว่าจะสู้ราคาเท่าไร ในที่สุดตกลงว่าจะซื้อทรัพย์ในราคา3,500,000 บาท แล้ว ผู้ซื้อทรัพย์ นายชาตรี วงศ์วนิชกังวาฬและนายสมบัติ ศิริเจริญ พากันเดินเข้าไปในห้องสำนักงานบังคับคดีประมาณ 5 นาที นายชาตรี สุทธิวานิช ออกมาประกาศว่าผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงสุด 3,500,000 บาท ขณะนั้น นอกจากผู้ซื้อทรัพย์แล้วก็ไม่มีผู้เข้าสู้ราคารายอื่นอยู่อีก เนื่องจากกลับไปหมดแล้วเพราะการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้เป็นการขายทอดตลาดรายสุดท้ายในวันนั้น ตามคำเบิกความของนายอรัญ พยานจำเลยดังกล่าวพอสรุปได้ว่าโจทก์จำเลยอ้างเหตุว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาสูงสุดที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอไว้ 3,000,000 บาท ยังต่ำอยู่ จึงเรียกผู้ซื้อทรัพย์ไปตกลงเพิ่มราคาทรัพย์เป็น 3,500,000 บาทนั้น เป็นการต่อรองราคาระหว่างผู้ซื้อทรัพย์กับเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้าสู้ราคา ปัญหาที่จะพิจารณามีว่าคำเบิกความของนายอรัญมีน้ำหนักเชื่อถือได้เพียงใด เห็นว่าจำเลยมีเพียงนายอรัญมาเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุน แต่ฝ่ายผู้ซื้อทรัพย์มีตัวผู้ซื้อทรัพย์เบิกความว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทนี้มีคนมาประมูลประมาณ 20 คน พยานให้ราคาสูงสุด3,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้เคาะไม้ขายในราคาดังกล่าวได้เดินเข้าไปในห้องผู้อำนวยการ สักครู่หนึ่งกลับออกมาแจ้งให้ผู้ซื้อทรัพย์และพวกที่ยืนอยู่ประมาณ 20 คนทราบว่า ทรัพย์ที่ประมูลรายนี้ให้ราคาต่ำไป มีใครจะให้ราคาสูงกว่านี้ไหม ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคา 3,500,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกให้รอก่อนแล้วเข้าไปปรึกษาผู้อำนวยการ สักครู่กลับออกมาประกาศว่า สามล้านห้าหนึ่งสามล้านห้าสอง สามล้านห้าสาม แล้วเคาะไม้ประกาศว่าผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้โดยมีนายปกรณ์ พูลทวี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 3 มาเบิกความสนับสนุนว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดทรัพย์คดีนี้นำราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอสูงสุดมาเสนอต่อพยาน พยานพิจารณาแล้วเห็นว่าราคา3,000,000 บาท สูงกว่าราคาประเมิน แต่การขายทอดตลาดเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานเพื่อรักษาประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุดพยานจึงให้เจ้าพนักงานขายทอดตลาดออกมาถามว่ามีใครจะให้ราคาสูงกว่าที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอหรือไม่ ปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาขึ้นมาเป็น 3,500,000 บาท พยานจึงสั่งอนุญาตให้ขายไปจากนั้นเจ้าพนักงานขายทอดตลาดได้กลับออกไปประกาศขายทอดตลาดและนับหนึ่งถึงสามแล้วเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และนายปกรณ์ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่าขณะที่มีการต่อรองราคาทรัพย์ครั้งที่สองมีประชาชนยืนอยู่ประมาณ 20 กว่าคน การขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้ไม่ใช่ขายรายสุดท้าย จะมีการขายทรัพย์รายอื่นอีก ดังนี้เห็นว่าคำเบิกความของนายปกรณ์สอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของผู้ซื้อทรัพย์ นายปกรณ์เป็นเจ้าพนักงานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้ปฏิบัติมา และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าพยานมีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามคำเบิกความที่ว่าผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงสุด 3,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินแล้ว แต่พยานยังให้เจ้าพนักงานผู้ทอดตลาดซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานออกไปถามว่ามีใครจะให้ราคาสูงกว่าที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอหรือไม่ เป็นเหตุให้ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาเพิ่มขึ้นเป็น 3,500,000 บาท และพยานได้อนุมัติให้ขายไปในราคาดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นการที่พยานได้ใช้ดุลพินิจดำเนินการขายทอดตลาดเพื่อรักษาประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุดอย่างแท้จริง ดังนั้นคำเบิกความของพยานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่เช่นนี้ย่อมมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง และเมื่อได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทุกฝ่ายแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายผู้ซื้อทรัพย์ประกอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้ดีกว่าพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์และจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของผู้ซื้อทรัพย์ว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงสุด 3,000,000 บาท นายชาตรี สุทธิวานิช เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้เคาะไม้ขายไปในราคาดังกล่าวแต่ได้ปรึกษานายปกรณ์พูลทวี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 3 แล้ว นายปกรณ์เห็นว่าแม้ราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอไว้3,000,000 บาท จะสูงกว่าราคาประเมิน แต่เพื่อรักษาประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุด นายปกรณ์จึงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกมาถามว่าจะมีใครให้ราคาสูงกว่าที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอไว้อีกหรือไม่ ปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์เสนอเพิ่มราคาเป็น 3,500,000 บาทนายปกรณ์จึงอนุมัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคาดังกล่าว การดำเนินการขายทอดตลาดเช่นนี้ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำต่อเนื่องตามระเบียบและเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้าสู้ราคากันอย่างเต็มที่ จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดแจ้งแก่ผู้สู้ราคาว่าราคา3,000,000 บาทนั้นต่ำไปก็แสดงว่าผู้ทอดตลาดเห็นว่า ราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ จึงถือได้โดยปริยายว่าผู้ทอดตลาดถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยทั้งนี้เพราะตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น นายชาตรี สุทธิวานิช เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้เพียงแต่แจ้งแก่ผู้สู้ราคาว่าราคา 3,000,000 บาท ที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอไว้สูงสุดนั้นต่ำไปเท่านั้น หากแต่ได้ถามผู้สู้ราคาซึ่งอยู่ในขณะนั้นประมาณ 20 คนว่าจะมีใครให้ราคาสูงกว่าที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนออีกหรือไม่ และดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปจนในที่สุดได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งได้เพิ่มราคาสูงสุดเป็น 3,500,000 บาทเช่นนี้เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดแจ้งแก่ผู้สู้ราคาว่า 3,000,000 บาท นั้นต่ำไป จะมีใครให้ราคาสูงกว่านี้อีกหรือไม่ จึงยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการขายทอดตลาดเพื่อรักษาประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุด มิใช่เป็นการที่ผู้ทอดตลาดถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยปริยายดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังขึ้นเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วคดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในประการต่อไปว่า ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายไปดังกล่าวนั้นต่ำเกินไปหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้มา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียว โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนคืนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่ ประเด็นข้อนี้จำเลยอ้างว่าศาลเคยตีราคาตอนที่จำเลยขออุทธรณ์อย่างอนาถาว่าราคาประมาณ 5 ล้านบาท เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 500 บาท เป็นเงินค่าที่ดิน 1,320,000 บาทราคาสิ่งปลูกสร้าง 1,115,100 บาท รวมราคา 2,435,000 บาท ผู้แทนโจทก์ซึ่งนำยึดที่พิพาทก็เห็นด้วยกับราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์นำยึดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531 เริ่มขายทอดตลาดครั้งที่ 1 วันที่ 29 เมษายน 2531 ไม่มีผู้ให้ราคา ครั้งที่ 2 วันที6 มิถุนายน 2531 ไม่มีผู้ให้ราคา ครั้งที่ 3 วันที่ 8 กรกฎาคม 2531มีผู้ให้ราคา 2,650,000 บาท ผู้แทนโจทก์ค้านว่าราคายังต่ำไม่คุ้มกับหนี้ของโจทก์ ควรขายได้ในราคา 3,100,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นด้วยจึงงดการขายแล้วประกาศขายใหม่ ครั้งที่ 4วันที่ 18 สิงหาคม 2531 โจทก์ของดการขาย ครั้งที่ 5 วันที่23 กันยายน 2531 ไม่มีผู้ให้ราคา ครั้งที่ 6 วันที่ 28 ตุลาคม 2531ไม่มีผู้ให้ราคา ครั้งที่ 7 วันที่ 9 ธันวาคม 2531 ไม่มีผู้ให้ราคาครั้งที่ 8 วันที่ 15 พฤษภาคม 2532 ไม่มีผู้ให้ราคา ครั้งที่ 9วันที่ 3 กรกฎาคม 2532 ไม่มีผู้ให้ราคา ครั้งที่ 10 วันที่ 28พฤศจิกายน 2532 โจทก์ของดการขาย ครั้งที่ 11 วันที่ 12 กุมภาพันธ์2533 ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคา 3,500,000 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ตกลงขาย เห็นว่า เรื่องขายทอดตลาดทรัพย์เพื่อนำเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้นี้มีข้อที่จะต้องพิจารณาอยู่ 2 ประการ ประการแรก ราคาทรัพย์ที่แท้จริงประมาณเท่าใดประการที่สอง สมควรจะขายได้แล้วหรือไม่ เรื่องราคาทรัพย์นั้นฝ่ายผู้ซื้อมีเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ทางราชการตามหน้าที่ไม่มีส่วนได้เสียในการยึดทรัพย์ได้ประเมินราคาไว้ขณะทำการยึดว่าราคาที่ดิน 1,320,000 บาทราคาสิ่งปลูกสร้าง 1,115,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,435,000 บาทซึ่งผู้แทนโจทก์ที่นำยึดก็เห็นด้วยในราคานี้ ต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2531 มีผู้ให้ราคา 2,650,000 บาทผู้แทนโจทก์ก็คัดค้านว่าราคาต่ำไป ควรขายได้ในราคา 3,100,000 บาทเจ้าพนักงานก็ถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาด แล้วประกาศขายต่อไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว มีทั้งราคาประเมินขณะทำการยึดและราคาที่โจทก์เห็นว่าควรขายได้ เห็นว่า ราคาที่โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าราคาที่จำเลยประเมิน ทั้งนี้เพราะจำเลยเป็นเจ้าของที่พิพาท ย่อมไม่อยากให้ที่ดินหรือทรัพย์สินของตนต้องตกไปเป็นของบุคคลอื่นจึงตีราคาสูงมาก ข้อพิจารณาที่สองเรื่องสมควรขายแล้วหรือไม่ ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2530 ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2530 โจทก์นำยึดทรัพย์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531และได้ทำการขายทอดตลาดเป็นครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์2533 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงสุด เห็นว่าตั้งแต่โจทก์เริ่มฟ้องคดีจนถึงวันขายทอดตลาดได้ เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ได้ทำการขายทอดตลาดมาเป็นครั้งที่ 11 และราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลได้ก็สูงกว่าราคาปานกลางที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ อีกทั้งยังสูงกว่าราคาที่ผู้แทนโจทก์เคยกำหนดว่าควรขายได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสมควรอนุมัติขายได้แล้ว หากฟังแต่คำคัดค้านของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่สามารถปฏิบัติราชการให้ลุล่วงไปได้ การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว ความเห็นของศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์และจำเลยเสีย.

Share