คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7906/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สุจริตด้วยกัน ผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเสียเปรียบ
โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความโดยบอกว่าให้ลงไว้เป็นหลักฐานพร้อมกับให้โจทก์มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) ของโจทก์ไว้เป็นประกันการกู้ยืม และขอสำเนาทะเบียนบ้านกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้ การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปใช้ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม ก็ต้องถือว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวมิได้เกิดขึ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้องยังเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์จึงฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือที่ดินไว้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้โจทก์จะมีส่วนประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ยังมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ได้ ในเมื่อที่ดินนั้นยังมิได้โอนเปลี่ยนมือไปเป็นของบุคคลอื่น ยังอยู่ในวิสัยที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ทำขึ้นโดยปราศจากอำนาจได้
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้รับจำนองที่ดินไว้มิได้ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ทั้งก่อนที่จำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินของโจทก์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 แล้ว เรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะเป็นอย่างไร จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นด้วย ถือว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ผู้ปรากฏชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในขณะนั้น
แม้ขณะจดทะเบียนจำนองจำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่จำนอง แต่พฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้พร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) ทั้งยังมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้กับจำเลยที่ 1 ด้วย เป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารเหล่านั้นไปใช้ในกิจการอย่างอื่น ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จะยกเอาผลที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์มาเป็นมูลเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ สุจริตด้วยกันผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนการจำนองจึงถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ดังนี้ แม้ที่ดินจะต้องถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์ แต่นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 1 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 48 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 48 คืนให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตามฟ้อง หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) ของที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 5 เดือน จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความโดยบอกว่าให้ลงไว้เป็นหลักฐาน พร้อมกับให้โจทก์มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 48 ไว้เป็นประกันการกู้ยืมและขอสำเนาทะเบียนบ้านกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้ด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปใช้ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2ในวันเดียวกันนั้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินเป็นของตนโดยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม โดยกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงไปในหนังสือมอบอำนาจว่า โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนขายที่ดินของโจทก์โดยยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนในนามของจำเลยที่ 1 ได้ด้วย ต้องถือว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวมิได้เกิดขึ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้องยังเป็นของโจทก์อยู่ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ผู้ปลอมเอกสาร ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือที่ดินไว้ โจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้โจทก์จะมีส่วนประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ยังมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ได้ ในเมื่อที่ดินนั้นยังมิได้โอนเปลี่ยนมือไปเป็นของบุคคลอื่นเพียงแต่จำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 และยังมิได้ไถ่ถอน ยังอยู่ในวิสัยที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ทำขึ้นโดยปราศจากอำนาจได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้รับจำนองที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ทั้งก่อนที่จำเลยที่ 2 จะรับจำนอง ที่ดินของโจทก์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากชื่อโจทก์มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 แล้ว ย่อมจะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสามารถจำนองที่ดินดังกล่าวได้ เรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะเป็นอย่างไร จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นด้วย จึงถือว่า จำเลยที่ 2 รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ผู้ปรากฏชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในขณะนั้นเป็นไปโดยถูกต้องทุกอย่าง แม้ขณะจดทะเบียนจำนองจำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่จำนอง แต่พฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความ มอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้พร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 48 ทั้งยังมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้กับจำเลยที่ 1 ด้วย เป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารเหล่านั้นไปใช้ในกิจการอย่างอื่น ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จะยกเอาผลที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์มาเป็นมูลเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ สุจริตด้วยกันผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนการจำนองจึงถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และแม้ที่ดินจะต้องถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์ นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 1 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 48 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยให้คงนิติกรรมจำนองไว้ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share