คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหลานของล. และอาศัยสิทธิของล. เข้าทำกินในที่ดินพิพาท เมื่อ ล. ตาย จำเลยไม่ได้แจ้งแก่ทายาทของ ล.ว่าจะครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนย่อมถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ล. และถึงแม้จะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ล. เป็นบุคคลภายนอกคดี สามารถพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ คำสั่งศาลชั้นต้นย่อมไม่ผูกพันโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยคืนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 5288อยู่ที่ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี (พยุหะคีรี) จังหวัดนครสวรรค์เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 2 งาน 77 ตารางวา แก่โจทก์ กับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ดังกล่าวข้างต้น
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางล้วนโจทก์บรรยายฟ้องว่ามีทายาทนางล้วนรวม 7 คน โจทก์จะฟ้องบังคับตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 เอาทรัพย์คืนเพียงคนเดียวเป็นการเอาส่วนของทายาทอื่นโดยไม่มีสิทธิหรืออำนาจกระทำได้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางน้อย ภู่สงค์ และนางริด อ้นโต ยื่นคำร้องว่า บุคคลทั้งสองต่างเป็นบุตรและเป็นทายาทของนางล้วน อ้นโตขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 นางน้อยว่าโจทก์ที่ 2 และนางริดว่าโจทก์ที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 5288ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี (พยุหะคีรี) จังหวัดนครสวรรค์เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 77 ตารางวา แก่โจทก์ ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์กับโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบและจำเลยไม่โต้แย้งว่า เดิมนางล้วน อ้นโต มีบุตร 5 คน คือ นายฟ้อน อ้นโต(โจทก์ที่ 1) นายจันทร์ อ้นโต นางเล็ก อ่วมทอง (มารดาจำเลย)นางน้อย ภู่สงค์ (โจทก์ที่ 2) นางริด อ้นโต (โจทก์ที่ 3)นางล้วนมีที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5288 ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี(พยุหะคีรี) จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 27 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวาตามโฉนดเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2523 นางล้วนแบ่งที่ดินให้นางเล็กและจำเลยคนละประมาณ 10 ไร่ และ 6 ไร่ตามลำดับโดยจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์รวม วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2524มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยนางล้วนและจำเลยถือกรรมสิทธิ์จำนวน 11 ไร่ 2 งาน 77 ตารางวา กับจำนวน 6 ไร่ 35 ตารางวา ตามลำดับ เมื่อ พ.ศ. 2530 นางล้วนตาย วันที่ 11 มีนาคม 2531 จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินในส่วนที่ดินซึ่งมีชื่อนางล้วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ คือที่ดินพิพาทคดีนี้อ้างว่านางล้วนยกให้จำเลยแล้ว จำเลยครอบครองด้วยความสงบ เปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของกว่า 10 ปี ศาลจังหวัดนครสวรรค์ได้มีคำสั่งว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 450/2531 คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า นางล้วนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองมาเกินกว่า 10 ปีหรือไม่… ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของกว่า 10 ปี จึงไม่น่าเชื่อ คงฟังได้เพียงว่า จำเลยซึ่งเป็นหลานอาศัยสิทธินางล้วนทำกินในที่ดินพิพาท เมื่อนางล้วนตายจำเลยซึ่งไม่ได้แจ้งแก่ทายาทนางล้วนคนอื่นว่าจะครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน ย่อมถือว่าครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนางล้วน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืน เพราะได้มีคำสั่งของศาลจังหวัดนครสวรรค์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1078/2531 ไม่ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วนและจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามคำสั่งถึงที่สุดของศาลจังหวัดนครสวรรค์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 450/2531 นั้น เห็นว่า แม้จะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกคดีสามารถพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมไม่ผูกพันโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง(2) ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share