แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 11 กำหนดให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่ คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆดังนั้น การที่มีประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2527 กำหนดให้ผู้ยื่นขอต่อใบอนุญาตให้มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ประจำปี พ.ศ. 2528 ทำการแก้ไขเครื่องรับ-ส่งวิทยุให้มีกำลังส่งไม่เกิน 10 วัตต์ หรือความถี่ ไม่เกินย่าน 144-146 เมกะเฮิรตซ์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามและระบุตำแหน่งไว้ท้ายประกาศด้วยว่า”อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข” จึงถือได้ว่าประกาศฉบับดังกล่าวเป็นประกาศของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขผู้มีอำนาจแล้ว และเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดกับมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้มี ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมประจำที่ในกิจการวิทยุอาสาสมัคร รวม ๖ รายการ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘ แต่จำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตให้ โดยอ้างประกาศกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ความว่า ผู้ที่จะยื่นคำขอต่อใบอนุญาตให้มีใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตลอดจนตั้งสถานีวิทยุคมนาคมในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จะต้องทำการแก้ไขเครื่องรับ-ส่งวิทยุให้มีกำลังส่งไม่เกิน ๑๐ วัตต์หรือความถี่ไม่เกินย่าน ๑๔๔-๑๔๖ เมกะเฮิรตซ์ เสียก่อนประกาศกรมไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวเป็นการออกประกาศโดยไม่มีอำนาจรองรับให้กระทำได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามดำเนินการต่อใบอนุญาตประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และปีต่อ ๆ ไปให้มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคมประจำที่ทั้งหกรายการให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า การอนุญาตให้ผู้ใด มี ใช้ นำเข้าหรือนำออก ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมหรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคม หรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ตลอดจนการควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่คลื่นสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆ เป็นอำนาจของจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีมีประเด็นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ ๘๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม ๑,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๑ ได้กำหนดให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่-คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข จำเลยที่ ๑ โดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นอำนาจของกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากออกไปอย่างใด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประกาศดังกล่าวเป็นประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขแม้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้ลงนามก็ตามแต่ก็เป็นการลงนามแทนกรมไปรษณีย์โทรเลข จะถือว่าเป็นการลงนามในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. ๒๔๙๘ หาได้ไม่ เห็นว่า ประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ได้ลงนามโดยจำเลยที่ ๑ และได้ระบุตำแหน่งไว้ท้ายประกาศด้วยว่า “อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข” จึงถือได้ว่าประกาศฉบับดังกล่าวเป็นประกาศของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขแล้ว และเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปโจทก์ฎีกาว่า ประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ขัดกับมาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เพราะประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตให้มี ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคม ตลอดจนตั้งสถานีวิทยุคมนาคมในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ต้องทำการแก้ไขเครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคมให้มีกำลังส่งไม่เกิน ๑๐ วัตต์ และหรือมีความถี่ไม่เกินย่าน ๑๔๔-๑๔๖ เมกะเฮิรตซ์ เสียก่อน เห็นว่า ความหมายของมาตรา ๖ กับความหมายในประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวแตกต่างกันไปคนละความหมาย กล่าวคือ ความในมาตรา ๖ มีเจตนามุ่งที่จะห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า หรือนำออก ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม ฯลฯเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๓ แม้คำว่า “ทำ” จะหมายความรวมตลอดถึงการประกอบขึ้น การแปรสภาพ หรือกลับสร้างใหม่ก็ตามแต่การกระทำต่าง ๆ ดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเสียก่อน ส่วนประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ ๒๑กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ นั้น เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตให้ มี ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคมตลอดจนตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ทำการแก้ไขเครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคมตามที่กำหนดไว้ในประกาศ เป็นการใช้อำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆตามนัยแห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๑ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและส่วนรวม แต่ถ้าผู้ขอต่อใบอนุญาตให้มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมหรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคมได้แก้ไขเครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศดังกล่าว จำเลยทั้งสามก็พร้อมที่จะต่อใบอนุญาตประจำปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ให้ การที่โจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗จำเลยทั้งสามจึงไม่ต่อใบอนุญาตให้นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสาม ๕๐๐ บาท.