คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนบริษัท ท. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศ บริษัท ท. ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ ขอให้จำเลยคืนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยรับไปจากโจทก์ ดังนี้เป็นคดีพิพาทด้วยนสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (1) อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานส่วนจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์หรือไม่หรือรับผิดเท่าใดเป็นอีกกรณีหนึ่ง มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดแล้ว คดีไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 วรรคสอง ห้ามโจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลอีกเฉพาะกรณีที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนไปแล้ว คดีนั้นจึงไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณา แม้จำเลยจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยมิได้สอบถามจำเลยก่อนก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว จะถือว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาหาได้ไม่ ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน
จำเลยได้รับมอบอำนาจจากบริษัทตัวการซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนบริษัทตัวการ ไม่ว่าจำเลยจะได้รับมอบหมายอำนาจแต่เฉพาะการหรือรับมอบอำนาจทั่วไปก็ตาม จำเลยย่อมเป็นตัวแทนของบริษัทตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาคนงานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ไม่ทำให้ฐานะของจำเลยเปลี่ยนเแปลงไปโดยไม่เป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปได้
บริษัทตัวการไม่สามารถให้โจทก์ทำงานในต่างประเทศได้ตามปกติจนครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงานโดยจัดให้โจทก์เข้าทำงานในเดือนแรก ส่วนเดือนต่อ ๆ มาโจทก์มิได้เข้าทำงานและมิได้รับค่าจ้างซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์ จะถือว่าบริษัทตัวการได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วหาได้ไม่ เมื่อบริษัทตัวการผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศไทยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานแต่ลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟ้องว่า บริษัทโทเนียยา คัมปะนี ฟอร์ คอนแทรคติ้ง แอนด์ เทรด จำกัด ตั้งอยู่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้มอบอำนาจให้จำเลยเป็นตัวแทนในประเทศไทยจัดหาคนงานส่งไปให้จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา ๒ ปี จำเลยได้เรียกเงินค่าใช้จ่ายเป็นค่าบริการ ค่าภาษีขาออกนอกประเทศ ค่าตรวจโรค ค่าสมัครงาน และค่าพาสปอร์ตจากโจทก์ทั้งสอบเอ็ดสำนวนแล้วจัดส่งโจทก์ไปที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อเข้าทำงาน แต่ปรากฏว่าบริษัทไม่มีงานให้โจทก์ทำ เป็นการผิดสัญญา ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งสอบเอ็ดสำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนให้การว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนและเรียกค่าใช้จ่ายคืนนั้น ไม่ใช่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน โจทก์เคยฟ้องจำเลยกรณีเดียวกันครั้งหนึ่งแล้วจึงเป็นฟ้องซ้อน จำเลยได้รับมอบอำนาจเฉพาะการในการติดต่อเฉพาะหน่วยงานรัฐเพื่อการจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศ จำเลยไม่มีอำนาจกำหนดค่าจ้างหรือกำหนดสภาพการจ้างใด ๆ กับคนหางาน จึงไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทดังกล่าว การที่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนบริษัทดังกล่าว และเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากโจทก์นั้น เป็นการทำสัญญาจัดหางานตามที่จำเลยได้อนุญาตเป็นผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน เมื่อจำเลยได้จัดส่งโจทก์ไปที่ต่างประเทศ และโจทก์ได้ทำงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ซึ่งทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้เกิดขึ้นในภายหลัง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวน พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อแรกว่าฟ้องของโจทก์เป็นคดีซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนบริษัทโทเนียยา คัมปะนี ฟอร์ คอนแทรคติ้ง แอนด์ เทรด จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศ ต่อมาบริษัทดังกล่าวผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ จึงขอให้จำเลยคืนเงินค่าใช้จ่ายซึ่งจำเลยรับไปจากโจทก์ จำเลยก็ให้การรับว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์จริง เพียงแต่ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุอื่น ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าเป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) คดีจึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ส่วนจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์หรือไม่หรือรับผิดเท่าใดเป็นอีกกรณีหนึ่ง มิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดแล้ว คดีไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันนี้ครั้งหนึ่งแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ ๗๓๙๗ ถึง ๗๔๐๗/๒๕๒๘ หมายเลขแดงที่ ๑๒๑๐ ถึง ๑๒๒๐/๒๕๒๙ ของศาลแรงงานกลาง ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องศาลแรงงานกลางอนุญาติให้โจทก์ถอนฟ้องโดยมิได้สอบถามจำเลย จากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้ในระหว่างอายุอุทธรณ์ของคดีนั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๓ วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้ (๑) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ากฎหมายห้ามโจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลอีกเฉพาะกรณีที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้นั้น ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว คดีนั้นจึงไม่อยู่ระหว่างการพิจารณา แม้จำเลยจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางในคดีนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่ง จะถือว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาหาได้ไม่ ฟ้องของโจทก์ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ไม่เป็นฟ้องซ้อน
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทโทเนียยา คัมปะนี ฟอร์ คอนแทรคติ้ง แอนด์ เทรด จำกัด หรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสอบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทโทเนียยา คัมปะนี ฟอร์ คอนแทรคติ้ง แอนด์ เทรด จำกัด โดยจำเลยมิได้ให้การรับและคดียังไม่สืบพยาน ไม่มีข้อเท็จจริงที่ยุตินั้น เป็นการวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานที่มีอยู่ในสำนวนอีกประการหนึ่งคู่ความยังไม่ยอมรับข้อเท็จจริง จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงซึ่งจะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดผิดสัญญาจ้างแรงงาน” และจะถือว่าบริษัทตัวการผิดสัญญาจ้างแรงงานแล้วหาได้ไม่ จำเลยไม่ต้องรับผิด วินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะปฏิเสธว่าจำเลยมิได้เป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าว แต่จำเลยก็ยอมรับในคำให้การว่า จำเลยได้รับมอบอำนาจจากบริษัทโทเนียยา คัมปะนี ฟอร์ คอนแทรคติ้ง แอนด์ เทรด จำกัด และได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างแรงงานแทนบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ฉะนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทโทเนียยา คัมปะนี ฟอร์ คอนแทรคติ้ง แอนด์ เทรด จำกัด นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงดังกล่าวปรับกับบทกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลแรงงานกลางว่า กรณีที่จำเลยได้รับมองอำนาจจากบริษัทตัวการซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศ แล้วจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนบริษัทตัวการ ไม่ว่าจำเลยจะได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการหรือรับมอบอำนาจทั่วไปก็ตาม จำเลยย่อมเป็นตัวแทนของบริษัท ตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๗ ทั้งสิ้น การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาคนงานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ทำให้ฐานะของจำเลยเปลี่ยนแปลงโดยไม่เป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปได้
ส่วนปัญหาที่ว่า บริษัทโทเนียยา คัมปะนี ฟอร์ คอนแทรคติ้ง แอนด์ เทรด จำกัด ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะยังโต้เถียงกันก็ตาม แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า เดือนแรกที่โจทก์ไปถึงประเทศซาอุดีอาระเบีย บริษัทตัวการจัดให้โจทก์เข้าทำงานตามตำแหน่งและอัตราค่าจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่ในเดือนต่อมาบริษัทตัวการหมดเงินทุนดำเนินการ จึงร้องขอให้โจทก์ทำงานไปพลางก่อน แต่โจทก์ไม่ยอมและหยุดงาน รัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการจึงปิดโครงการเสีย ดังนี้เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังดังที่จำเลยแถลง แต่การที่บริษัทตัวการไม่อาจให้โจทก์ทำงานต่อไปได้ตามปกติจนครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือได้ว่าบริษัทตัวการผิดสัญญา การที่บริษัทตัวการจัดให้โจทก์เข้าทำงานในเดือนแรก ส่วนเดือนต่อ ๆ มาโจทก์มิได้เข้าทำงานและมิได้รับค่าจ้าง โดยมิใช่ความผิดของโจทก์ จะถือว่าบริษัทตัวการได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วหาได้ไม่ เมื่อบริษัทตัวการผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานแต่ลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๔
พิพากษายืน

Share