คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2615/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เบิกความเท็จ นำสืบและแสดงหลักฐานเท็จในคดีแพ่งซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องแล้วโจทก์ได้อาศัยมูลคดีอาญาดังกล่าวฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดฐานละเมิดฟ้องโจทก์คดีหลังนี้จึงเป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งที่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาไว้ในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และอายุความฟ้องร้องต้องถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ซึ่งให้ถือตามอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำความผิดในทางอาญาของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์ เป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มีอายุความ 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 11,000 บาท กับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี คดีจึงขาดอายุความโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดเป็นคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เบิกความเท็จ นำสืบและแสดงหลักฐานเท็จในคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2517 โดยให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 335/2515 ของศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์จึงได้อาศัยคดีอาญาดังกล่าวฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งที่ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาไว้ในคดีอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และเมื่อคดีปรากฏว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก่อนที่โจทก์จะมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งนี้ อายุความฟ้องร้องจึงต้องถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งให้ถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 มาใช้บังคับ เมื่อนับแต่วันที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองเสร็จเด็ดขาดจนถึงวันฟ้องคดีนี้ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2520 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ใช่ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มีอายุความ 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่เนื่องจากในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้แล้วพิพากษาใหม่ต่อไป

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นค่าเสียหายแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้รวมไว้สั่งในคำพิพากษาใหม่ แต่ถ้าหากโจทก์จะต้องฎีกาต่อไปอีกก็ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมฎีกา”

Share