แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” เมื่อเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ วันที่ 9 มกราคม 2551 คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประโยชน์ทดแทน ที่ รง 0623/11/71805 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1170/2551 และบังคับจำเลยชำระเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ 303,421.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 283,771.15 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 ที่ รง 0623/11/71805 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1170/2551 และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์แก่โจทก์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินลงวันที่ 11 เมษายน 2548 ข้อ 3.1.2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตน โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิของโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ 9 วัน เสียค่าบริการทางการแพทย์ 283,771.15 บาท แล้ววินิจฉัยว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันและมีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้จึงเป็นกรณีฉุกเฉิน กรณีของโจทก์นับว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ไม่สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 ที่ รง 0623/11/71805 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1170/2551 และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมเรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องนั้นเมื่อกฎหมายกำหนดให้โจทก์สามารถอุทธรณ์คำสั่งและฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดได้แล้ว กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” เมื่อเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่าจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดเพียงใดนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้แล้วโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ส่วนที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยโดยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 31 ตุลาคม 2551) เป็นระยะเวลา 337 วัน มาด้วยซึ่งเท่ากับว่าโจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 อันเป็นวันถัดจากวันที่โจทก์สิ้นสุดการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพนั้น โจทก์จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยดังกล่าวได้ต่อเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว” โดยที่คำเตือนในกรณีนี้ก็คือการทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับนั่นเองและในการทวงถามนั้นโจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้เสียก่อนจึงจะถือว่าเป็นคำเตือนโดยชอบ หากจำเลยไม่ชำระเงินตามที่โจทก์ทวงถามแล้วจึงจะถือว่าจำเลยผิดนัด เมื่อได้ความตามเอกสารว่า โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ วันที่ 9 มกราคม 2551 คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องชำระแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 ตุลาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง