แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส และจำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อนาทะเบียนสมรสว่า จำเลยยังไม่เคยสมรสมาก่อนความจริงเป็นคู่สมรสกับหญิงอื่นอยู่แล้ว ซึ่งโจทก์ไม่ทราบ นายทะเบียนสมรสจดทะเบียนให้เพราะเชื่อถ้อยคำของจำเลยดังนี้ ผลจากการจดทะเบียนสมรสย่อมทำให้การสมรสนั้นสมบูรณ์ ทำให้โจทก์เปลี่ยนฐานะไปเป็นหญิงมีสามี การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยจึงเกี่ยวกับฐานะบุคคลของโจทก์ที่ได้เปลี่ยนไปในขณะนั้น ถ้อยคำของจำเลยจึงกระทบกระเทือนถึงความเป็นอยู่ของโจทก์ด้วย การจดทะเบียนสมรสนั้นผิดเงื่อนไขแห่งการสมรส เป็นโมฆะ และฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1451 ถ้ามีบุคคลอ้างและศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ โจทก์อาจได้รับความเสียหายเพราะตกอยู่ในฐานะเป็นหญิงมีสามีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อโจทก์ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจแจ้งความเท็จแก่นายพายัพ อรุณฤกษ์นายทะเบียนสมรสและเป็นเจ้าพนักงานว่า จำเลยยังไม่เคยสมรส นายพายัพได้จดทะเบียนสมรสให้โจทก์จำเลย ความจริงจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวลำดวน สังขเนตร อยู่แล้ว และยังมิได้หย่าขาดจากกัน เป็นเหตุให้โจทก์และนายพายัพเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137
ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีมีมูล ให้รับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 จำคุกหนึ่งเดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้อยู่ก่อนโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันว่า จำเลยมีนางลำดวนเป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายอยู่ และวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสและให้ถ้อยคำต่อนายทะเบียนสมรสพร้อมกันทั้งสองฝ่าย นายทะเบียนสมรสอำเภอพญาไทจดทะเบียนสมรสให้โจทก์จำเลยก็เพราะเชื้อถ้อยคำของจำเลยที่ว่าไม่เคยสมรสมาก่อน ผลที่เกิดจากการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1449 ย่อมทำให้การสมรสนั้นสมบูรณ์ ทำให้โจทก์เปลี่ยนฐานะบุคคลของตนไปเป็นหญิงมีสามีโดยผลของกฎหมาย การแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จของจำเลยจึงเกี่ยวกับฐานะบุคคลของโจทก์ที่ได้เปลี่ยนไปในขณะนั้นดังกล่าว หาใช่จะเกี่ยวกับฐานะส่วนตัวของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ และถ้อยคำของจำเลยในเรื่องเคยสมรสมาก่อนหรือไม่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการที่นายทะเบียนสมรสจะจดทะเบียนสมรสให้โจทก์จำเลยนั่นเอง จึงกระทบกระเทือนถึงความเป็นอยู่ของโจทก์ด้วย เมื่อจำเลยเป็นคู่สมรสชอบด้วยกฎหมายของนางลำดวนอยู่แล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์ จำเลยย่อมผิดเงื่อนไขแห่งการสมรสตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3) ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 ให้ถือว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะ และเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1451 กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อมีบุคคลอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะ และศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้นโจทก์อาจได้รับความเสียหายเพราะตกอยู่ในฐานะเป็นหญิงมีสามีไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น