คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2612/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ทำสัญญาขายเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์และติดตั้งเสร็จแก่จำเลย แล้วต่อมาโจทก์ผิดสัญญาส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์และติดตั้งให้แก่จำเลยไม่ทันกำหนดตามสัญญา โดยสัญญาฉบับพิพาท ข้อ 6 ระบุไว้ว่าโจทก์ผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมเสาอากาศและอุปกรณ์ห้องส่งติดตั้งให้จำเลยแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 แต่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยช้ากว่ากำหนดไป 132 วัน ซึ่งตามสัญญาข้อ 12 จำเลยมีสิทธิปรับโจทก์เป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของมูลค่าที่ซื้อขายทั้งหมดตามสัญญา 12,140,000 บาท คิดเป็นเงินค่าปรับ 3,204,960 บาทและการขายเหมาดังข้อความในสัญญาข้อ 1 นั้น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ข้อ 61 ทวิวรรคสี่มีว่า “ในกรณีการซื้อสิ่งของที่คิดราคารวมทั้งค่าติดตั้งหรือทดลองด้วย ถ้าติดตั้งหรือทดลองเกินกว่ากำหนดตามสัญญาเป็นจำนวนวันเท่าใดให้ปรับเป็นรายวันในอัตราที่กำหนดของราคาทั้งหมด” การที่โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงทำกันขึ้นประกอบเข้าด้วยกันจากข้อความในสัญญาข้อที่เขียนไว้ว่า “ผู้ซื้อตกลงซื้อและผู้ขายตกลงขายเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบและระบบสายเสาอากาศรวมทั้งอุปกรณ์ห้องส่งขนาดเล็กรวม 1 ชุด พร้อมทั้งการติดตั้งตามสถานที่ที่กำหนด ฯลฯ” กับข้อความในสัญญาข้อ 12 ที่เขียนว่า”ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวัน ในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของเป็นชุดที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ฯลฯ” แล้วก็จะเห็นได้ว่ามีคำว่า”ชุด” ตรงกัน และพิจารณาประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ดังกล่าว จึงแปลความในสัญญาได้ว่า จากมูลค่าที่ซื้อขายทั้งหมดเนื่องจากเครื่องส่งโทรทัศน์อุปกรณ์ส่วนควบและระบบสายเสาอากาศ คือสิ่งของประกอบกันเข้าเป็นชุด วัตถุแห่งสัญญาก็คือการส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมการติดตั้งและสามารถแพร่ภาพออกอากาศได้มิใช่หมายความถึงเฉพาะราคาสิ่งของเป็นชุดที่ยังไม่ได้ส่งมอบ เมื่อโจทก์ส่งมอบของและติดตั้งล่าช้าเกินกำหนดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องชำระค่าปรับตามสัญญาข้อ 12แต่ค่าปรับดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ซึ่งศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ส่วนดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับที่โจทก์จะได้รับคืนนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยไม่ เพราะการที่จำเลยหักเงินค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบที่จำเลยกระทำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมในรัฐบาล เมื่อวันที่8 สิงหาคม 2528 จำเลยได้ทำสัญญาซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์สีขนาด 10 กิโลวัตต์ จากโจทก์ พร้อมด้วยอุปกรณ์ส่วนควบ และระบบสายเสาอากาศ รวมทั้งอุปกรณ์ห้องส่งขนาดเล็ก 1 ชุด พร้อมค่าแรงและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายเพื่อประกอบการจนแล้วเสร็จในราคารวม 12,140,000 บาท และกำหนดว่าหากสิ่งของที่ซื้อขายต้องสั่งมาจากต่างประเทศและต้องนำเข้าโดยทางเรือในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถรับขนได้ก็ต้องขนส่งโดยทางเรือไทยเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี โดยกำหนดว่าโจทก์ต้องส่งสิ่งของซื้อขายให้แก่จำเลย ณ สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์ อำเภอเพ็ญจังหวัดอุดรธานีภายในวันที่ 8 เมษายน 2529 และทำการติดตั้งตามจุดต่าง ๆที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้แล้วเสร็จสามารถออกอากาศได้ภายในวันที่4 กรกฎาคม 2529 แบ่งการชำระเงินเป็น 3 งวด หากโจทก์ผิดสัญญาจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ หากจำเลยไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโจทก์ยอมให้จำเลยปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของเป็นชุดที่ยังไม่ได้ส่งมอบ นับถัดจากวันที่ครบกำหนดส่งมอบถึงวันที่โจทก์ได้นำส่งมอบ หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วโจทก์ได้ติดต่อให้บริษัทยูไนเต็ดไทย ชิปปิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือไทยสายเดียวที่ผ่านเส้นทางที่โจทก์จะต้องขนส่งสินค้ารายนี้จากต่างประเทศ โดยใช้เรือชื่อกรรณิการ์ และกำหนดว่าจะส่งเรือลำดังกล่าวมารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์ในวันที่8 มีนาคม 2529 แต่ปรากฏว่าเรือลำดังกล่าวถูกเจ้าหนี้ยึดไว้ที่ท่าเรือประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์2529 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2529 และบริษัทดังกล่าวได้จัดเรือลำอื่นมาเทียบท่ารับสินค้าของโจทก์ในวันที่ 9 เมษายน 2529โจทก์จึงไม่สามารถส่งสินค้าตามสัญญาและติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์ให้แก่จำเลยได้ตามกำหนดจำเลยหักค่าปรับโดยอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเป็นเวลา 132 วันเป็นเงิน 3,204,960 บาท ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิหักได้เพราะไม่ใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะปฏิบัติตามสัญญาได้ และกรณีถือได้ว่าโจทก์ได้ติดตั้งและส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายให้แก่จำเลยครบถ้วนตามกำหนด เพียงแต่หลังจากจำเลยรับมอบเครื่องส่งโทรทัศน์จากโจทก์แล้วต่อมาได้ให้โจทก์ไปแก้ไขส่วนสายอากาศซึ่งทำให้ต้องหยุดแพร่ภาพไป 28 วัน หากจำเลยจะคิดค่าปรับก็คิดได้เฉพาะระยะเวลาดังกล่าว คือ คิดค่าปรับร้อยละ 0.2 ของมูลค่าสายอากาศ ซึ่งเฉพาะสายอากาศมีราคา 2,104,069 บาท คิดเป็นค่าปรับแล้วจำเลยมีสิทธิปรับโจทก์เพียง 117,859 บาทเท่านั้น การที่จำเลยคิดหักค่าปรับจากเงินค่าซื้อขายทั้งหมดเป็นเงิน 3,204,960 บาท จึงไม่ถูกต้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 3,347,681 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันบอกกล่าวทวงถามถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน 13 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 91,487 บาท และขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ความล่าช้าเกิดจากโจทก์ไม่เอาใจใส่ในการที่จะปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ต้องใช้ค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.2ของราคาซื้อขายทั้งหมดจะแยกปรับจากมูลค่าของส่วนสายอากาศไม่ได้เพราะระบบสายอากาศเป็นอุปกรณ์ส่วนควบ เมื่อโจทก์ส่งมอบขาดส่วนประกอบในส่วนแผงสายอากาศ ถือว่าไม่ได้ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาคือ วันที่ 5 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่โจทก์ส่งมอบของครบถ้วนถูกต้องคือ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2529 รวมเป็นเวลา 132 วันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าปรับจำนวน1,687,460 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาขายเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์และติดตั้งเสร็จแก่จำเลยแล้วต่อมาโจทก์ผิดสัญญาส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์และติดตั้งให้แก่จำเลยไม่ทันกำหนดตามสัญญาจำเลยจึงใช้สิทธิหักเงินค่าปรับจากโจทก์ในอัตราร้อยละ 0.2 ของยอดเงินราคาค่าเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์รวมค่าติดตั้งเป็นเงิน3,204,960 บาท ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินค่าปรับจากโจทก์ได้เพียงใดและจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยโจทก์เมื่อใด ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกที่ว่าจำเลยมีสิทธิหักเงินค่าปรับจากโจทก์เพียงใดนั้น จำเลยนำสืบว่าตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 และ จ.4 ข้อ 6ได้ระบุไว้ว่า โจทก์จะต้องส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมเสาอากาศและอุปกรณ์ห้องส่งติดตั้งให้จำเลยแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 โจทก์ส่งมอบให้จำเลยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529ช้ากว่ากำหนด 132 วัน ซึ่งตามสัญญาข้อ 12 จำเลยมีสิทธิปรับโจทก์เป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของมูลค่าที่ซื้อขายทั้งหมดตามสัญญา 12,140,000 บาท เป็นเวลา 132 วัน คิดเป็นเงินค่าปรับ3,204,960 บาท ซึ่งเป็นการขายเหมาดังข้อความในสัญญาข้อ 1ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521ข้อ 61 ทวิ วรรคสี่ ที่ว่า “ในกรณีการซื้อสิ่งของที่คิดราคารวมทั้งค่าติดตั้งหรือทดลองด้วย ถ้าติดตั้งหรือทดลองเกินกว่ากำหนดตามสัญญาเป็นจำนวนวันเท่าใดให้ปรับเป็นรายวันในอัตราที่กำหนดของราคาทั้งหมด” ดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา เมื่อพิจารณารายละเอียดข้อความในสัญญาเอกสารหมาย ล.1 และ จ.4 ข้อ 1 กับข้อ 12 ที่โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงทำกันขึ้นประกอบเข้าด้วยกันจากข้อความในสัญญาข้อที่เขียนไว้ว่า “ผู้ซื้อตกลงซื้อและผู้ขายตกลงขายเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบและระบบสายเสาอากาศรวมทั้งอุปกรณ์ห้องส่งขนาดเล็กรวม 1 ชุด พร้อมทั้งการติดตั้งตามสถานที่ที่กำหนด ฯลฯ” กับข้อความในสัญญาข้อ 12ที่เขียนว่า “ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวัน ในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของเป็นชุดที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ฯลฯ” แล้วก็จะเห็นได้ว่ามีคำว่า”ชุด” ตรงกัน และพิจารณาประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ดังกล่าว น่าจะแปลความในสัญญาว่าจากมูลค่าที่ซื้อขายทั้งหมดเนื่องจากเครื่องส่งโทรทัศน์อุปกรณ์ส่วนควบ และระบบสายเสาอากาศ คือ สิ่งของประกอบกันเข้าเป็นชุด วัตถุแห่งสัญญาก็คือ การส่งมอบเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมการติดตั้งและสามารถแพร่ภาพออกอากาศได้ เมื่อโจทก์ส่งมอบของและติดตั้งล่าช้าเกินกำหนดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นเงิน 3,204,960 บาท ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หมายความถึงเฉพาะราคาสิ่งของเป็นชุดที่ยังไม่ได้ส่งมอบนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแต่ค่าปรับดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 และศาลฎีกาว่า ค่าปรับนั้นสูงเกินส่วน สมควรลดค่าปรับให้ 1,204,960 บาท ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับที่โจทก์ได้รับคืน เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยไม่เพราะการที่จำเลยหักเงินค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินค่าปรับจำนวน1,204,960 บาท แก่โจทก์

Share