แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง ถ. และ อ. กับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน อ. กับผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อ. กับผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์คำสั่งอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมของผู้ตายระบุให้ น. และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ ถ. ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้อง โดยเห็นว่า อ. กับผู้ร้องชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลชั้นต้น และต่อมามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายในคดีนี้ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่เคยมีคำสั่งตั้ง ถ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องถึงรายละเอียดในคดีที่เคยยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อน และแนบคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแทน แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องใหม่เข้ามาและมีการลงเลขคดีดำใหม่ ก็เป็นเพียงเรื่องปฏิบัติในทางธุรการของศาลเท่านั้น กรณีถือได้ว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องต่อศาลในคดีก่อน ตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) แล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้สืบเนื่องจากคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2557 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพลตำรวจตรีถาวร ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางองุ่น ผู้ตาย ซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องและถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 โดยผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ต่อมานายอรรถกฤษณ์ ผู้คัดค้านที่ 1 นายชัยวัฒน์ ผู้คัดค้านที่ 2 (ผู้ร้องคดีนี้) ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ร้อง ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายล้มป่วย แต่ผู้ร้องไม่เคยดูแลมารดา ผู้ร้องไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์อ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเพิ่งค้นพบพินัยกรรมแบบเขียนเองของผู้ตาย ซึ่งพินัยกรรมกำหนดยกทรัพย์สินทั้งหมดให้บุตร 3 คน คือ นางสาวนวรัตน์ และผู้คัดค้านทั้งสองคนละเท่า ๆ กัน ทั้งให้นางสาวนวรัตน์และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันด้วย โดยตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ก็ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง อนึ่ง ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสอง เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ครั้นวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีดังกล่าวจึงยื่นคำร้องคดีนี้ขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษายืน ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้อื่นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2557 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นการที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องให้ตั้งผู้ร้องอีก จึงเป็นคำร้องซ้ำ หากมีข้อขัดข้องประการใด ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า พลตำรวจตรีถาวร ผู้ร้อง นายอรรถกฤษณ์ ผู้คัดค้านที่ 1 และนายชัยวัฒน์ ผู้คัดค้านที่ 2 (ผู้ร้องในคดีนี้) ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2557 ของศาลชั้นต้น กับนางสาวนวรัตน์ ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อปี 2557 ต่างเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 กับนายเกษม ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2557 มีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของผู้ตายร่วมกัน ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมโดยยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2557 ของศาลชั้นต้น ได้มีคำสั่งตั้งพลตำรวจตรีถาวร ผู้ร้อง นายอรรถกฤษณ์ และนายชัยวัฒน์ ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของผู้ตายร่วมกัน ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น โดยในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์อ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเพิ่งค้นพบพินัยกรรมแบบเขียนเองของผู้ตาย ซึ่งพินัยกรรมกำหนดยกทรัพย์สินทั้งหมดให้บุตร 3 คน คือ นางสาวนวรัตน์ และผู้คัดค้านทั้งสองคนละเท่า ๆ กัน ทั้งให้นางสาวนวรัตน์และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันด้วย โดยตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมีคำสั่งว่าหากเป็นดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างก็ชอบที่ผู้คัดค้านทั้งสองจะไปดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านที่ 2 จึงได้มายื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้ได้มายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่เคยมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2557 อีกทั้งในคดีนี้ผู้ร้องได้อ้างในคำร้องถึงรายละเอียดในคดีที่ผู้ร้องได้เคยยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อน โดยได้แนบคำสั่งของศาลชั้นต้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีก่อนมาพร้อมกับคำร้องในคดีนี้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแทน แม้จะปรากฏว่าผู้ร้องได้มีการยื่นคำร้องใหม่เข้ามาและมีการลงเลขคดีดำใหม่ในคำร้อง ก็เป็นเพียงเรื่องทางปฏิบัติในทางธุรการของศาลเท่านั้น กรณีถือได้ว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องต่อศาลในคดีก่อนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (4) แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ผู้ร้องต้องเสนอคำร้องต่อศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 1405/2557 ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคดีเดิมตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ