คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2246/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 วรรค 2 บัญญัติเพื่อให้มีผลบังคับสำหรับกรณีที่จะมีการฟ้องคดีแพ่งตามมาภายหลังที่ได้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาเด็ดขาด ไปแล้วดังที่บัญญัติไว้ในวรรค 3 และ 8 รวมทั้งกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีแพ่งเข้ามาในระหว่างพิจารณาคดีอาญาด้วย
ก่อนฟ้องคดีแพ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาหาว่ายักยอกทรัพย์ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 41 วรรค 4 ถือสิทธิของโจทก์ในอันที่จะฟ้องคดีแพ่งสำหรับจำเลยที่ 2 ย่อมมีอายุความตามหลักทั่วไปในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในคดีอาญาศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมยักยอกทรัพย์ของโจทก์ด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีแพ่งขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงต้องนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะถึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานด้านธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ และโทรคมนาคมและธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกันหรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการไปรษณีย์ และโทรคมนาคมโดยรับโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ และลูกจ้างของกรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ เป็นต้นไป เมื่อระหว่างวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๑ รับราชการตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขตรีหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน จำเลยที่ ๒ รับราชการตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์โทรเลขของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน และเป็นกรรมการบัญชี บ.๖๖ ด้วย จำเลยทั้งสองได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรักษากุญแจห้องนิรภัยและตู้เซฟนิรภัยของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน มีหน้าที่และรับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับการจัดทำ จัดการควบคุม ครอบครอง ดูแลรักษาสมุดบัญชีและทรัพย์สินของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข อำเภอทุ่งช้าง ซึ่งได้มาและจ่ายไปเป็นประจำวันและเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟ และจำเลยทั้งสองยังมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการตรวจสอบ จัดทำบัญชีเงินสดเป็นทรัพย์สินของทางราชการให้ตรงกับเงินสดและทรัพย์สินที่เก็บรักษาไว้ในตู้เซฟนิรภัยดังกล่าวพร้อมหน้ากันเป็นประจำวัน แล้วใส่กุญแจประตูตู้เซฟนิรภัยประจำตัวของแต่ละคนให้ครบถ้วนและต้องคาดเชือกผูกป้ายประทับตรา และตรวจตราประจำตัวของกรรมการรักษากุญแจทุกคนที่ประทับไว้ให้เรียบร้อย และจำเลยทั้งสองต้องใส่กุญแจห้องเก็บตู้เซฟนิรภัยให้ครบถ้วนพร้อมหน้ากันด้วย เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ จำเลยทั้งสองร่วมกันทำบัญชีแสดงจำนวนเงินสดและทรัพย์สินประจำวันตามแบบ บ.๖๖ แสดงยอดจำนวนเงินสดและทรัพย์สินต่างๆ ที่เก็บไว้ในตู้เซฟนิรภัยว่ามีเงินสดอยู่รวม ๔๐,๖๖๙ บาท ๐๔ สตางค์ ตราไปรษณีย์อากรรวม ๔,๐๐๘ บาท อากรแสตมป์ รวม ๓๔๔ บาท ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์ รวม ๔,๓๒๒ บาท วินัยบัตร ๕ ฉบับ รวมราคา ๔๐ บาท และได้ผ่านการตรวจสอบจากจำเลยทั้งสองแล้วว่าเงินสดและทรัพย์สินดังกล่าวมีอยู่จริง แต่จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบคำสั่ง กล่าวคือ เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดทำบัญชีแบบ บ.๖๖ เสร็จแล้ว จำเลยที่ ๒ ได้ละเลยปล่อยให้จำเลยที่ ๑ ตรวจนับเงินสดและทรัพย์สินต่างๆ แล้วนำเข้าเก็บในตู้เซฟนิรภัยเพียงลำพังคนเดียว และจำเลยที่ ๒ ยังปล่อยให้ลูกกุญแจประจำตัวของตนคาไว้ที่รูกุญแจตู้เซฟนิรภัยแล้วออกไปจากห้องนิรภัย และเมื่อกลับเข้าไปจำเลยทั้งสองก็มิได้ตรวจนับเงินสดและทรัพย์สินต่างๆพร้อมหน้ากัน เมื่อปิดประตูตู้เซฟนิรภัยจำเลยที่ ๒ ก็มิได้ตรวจว่าจำเลยที่ ๑ ได้ใส่กุญแจประจำตัวจำเลยที่ ๑ หรือไม่ และจำเลยทั้งสองได้ละเว้นไม่คาดเชือกผูกป้ายประทับตราดินน้ำมันหรือครั่งหรือขี้ผึ้งที่ตู้เซฟนิรภัย ทั้งจำเลยที่ ๒ ยังละเลยไม่ใส่กุญแจประตูห้องนิรภัยดอกประจำตัวของจำเลยที่ ๒ คงปล่อยให้จำเลยที่ ๑ ใส่กุญแจประตูห้องนิรภัยด้วยกุญแจของตนเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ ๑ เมื่อตรวจนับเงินและทรัพย์สินของโจทก์ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ และทำบัญชี บ.๒๖ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ แล้ว ก็ได้จัดการนำเงินสดและทรัพย์สินของโจทก์เข้าเก็บในตู้เซฟนิรภัยกับเพียงคนเดียวโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งโดยทุจริต เปิดโอกาสให้มีการยักยอกเอาเงินสดและทรัพย์สินของโจทก์ไป คือเงินสด ๔๐,๓๒๘ บาท ๗๙ สตางค์ ดวงตราไปรษณีย์อากร ๑,๕๘๘ บาท ๕๔ สตางค์ อากรแสตมป์ ๕๗ บาท ๘๐ สตางค์ วินัยบัตร ๕ ฉบับ เป็นเงิน ๔๐ บาท รวมเป็นเงิน ,๔๓๕ บาท ๑๔ สตางค์ ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ ๒ รู้เห็นเป็นใจด้วย ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินที่โจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าว โจทก์รู้ถึงการละเมิดของจำเลย เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๒๐ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกัน ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๔๐,๔๗๕ บาท ๑๔ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบการเก็บรักษา การตรวจนับและการเก็บเงินสดและทรัพย์สินต่างๆ ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ เมื่อเลิกงานปิดบัญชีการเงินประจำวันแล้ว จำเลยที่ ๒ ได้จัดทำบัญชีทรัพย์สินประจำวันตาม แบบ บ.๒๖ ปรากฏว่า มีเงินสดอยู่ ๔๐,๖๖๙ บาท ๐๔ สตางค์ ตราไปรษณีย์อากรรวม ๓๔๔ บาท ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์รวม ๔,๓๒๒ บาท วินัยบัตร ๕ ฉบับ ราคา ๔๐ บาท จำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตรวจนับเงินสดและทรัพย์สินครบถ้วนถูกต้องกับบัญชีแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไปเข้าห้องน้ำ เมื่อออกจากห้องน้ำก็ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ปิดประตูตู้เซฟใส่กุญแจพร้อมกับปิดประตูด้านนอกใส่กุญแจแล้วคล้องเชือกกับตู้เซฟ ตีตราครั่งโดยใช้ดินน้ำมันแทน และประทับตราประจำตัวของจำเลยทั้งสองอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องทุกประการ โจทก์ทราบเรื่องการละเมิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม ๒๕๒๐ คดีจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหาย ๔๑,๔๗๕๑๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ วรรค ๒ บัญญัติเพื่อให้มีผลบังคับสำหรับกรณีที่จะมีการฟ้องคดีแพ่งตามมาภายหลังที่ได้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาเด็ดขาดไปแล้วดังที่บัญญัติไว้ในวรรคา ๓ และ ๔ รวมทั้งกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีแพ่งเข้ามาในระหว่างพิจารณาคดีอาญาอย่างคดีนี้ด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนฟ้องคดีแพ่งนี้ พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีอาญาว่ายักยอกทรัพย์และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว กรณีจึงต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ วรรค ๔ คือสิทธิของโจทก์ในอันที่จะฟ้องคดีแพ่ง สำหรับจำเลยที่ ๒ ย่อมมีอายุความตามหลักทั่วไปในเรื่องอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในคดีอาญาที่จำเลยที่ ๒ ถูกฟ้องนั้น ปรากฏว่าศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ร่วมยักยอกทรัพย์ของโจทก์ ดังนั้นเมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีแพ่งขอให้ใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงต้องนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติให้ฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ฟ้องคดีแพ่งนี้เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จะฟังต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ จึงขาดอายุความพิพากษา
พิพากษายืน

Share