คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์กับกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 พิพาทกันเกี่ยวกับกรณีที่โจทก์นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อปี 2531 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าอยู่ในพิกัดที่ 8705.10 ไม่ได้รับลดหย่อนอากรและไม่พอใจราคาจึงสั่งให้โจทก์วางประกัน โจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันค่าภาษีอากร แล้วชำระภาษีอากรตามที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า กับได้โต้แย้งไว้ แต่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งยืนตาม โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในพิกัดที่ 8426.19 และราคาที่โจทก์สำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้คืนหนังสือค้ำประกัน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ได้ประเมินภาษีอากรเพิ่มจากที่โจทก์สำแดงไว้ ต่อมาเมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่ได้ประเมินเพิ่มพร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีดังกล่าว โจทก์ชำระเงินดังกล่าวและได้รับหนังสือค้ำประกันแล้วการที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ออกแบบแจ้งการประเมินไปถึงโจทก์ซึ่งเป็นการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามกฎหมาย ส่วนหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ค้างชำระอยู่ มิใช่เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากร ย่อมไม่มีผลเป็นการประเมินภาษีอากรตามกฎหมาย จึงต้องถือแต่เฉพาะการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเท่านั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลมาตั้งแต่แรกแล้วการที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้จำเลยคืนเงินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 ประเมินเพิ่มย่อมมีผลเท่ากับเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรดังกล่าวต่อศาลโดยตรงโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 จึงต้องห้ามมิให้นำคดีเกี่ยวกับภาษีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2531 และวันที่ 3 มีนาคม2531 โจทก์ซื้อปั้นจั่นใช้แล้วพร้อมอุปกรณ์เข้ามาในราชอาณาจักรรวม 2 ชุด ชุดแรกนำเข้ามาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2531 ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 011-50173 สำแดงราคา895,730 มาร์คเยอรมัน ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพ เท่ากับเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนำเข้า 13,906,208 บาท เสียภาษีในพิกัดประเภทที่ 8426.19 อัตราอากรร้อยละ 30 ลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังเหลือร้อยละ 20 ของราคาสินค้า เสียภาษีการค้าร้อยละ 9 ของรายรับคือ ราคารวมอากรขาเข้ากับกำไรมาตรฐานร้อยละ 16 เสียภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของภาษีการค้า เป็นเงินค่าอากรขาเข้า 2,781,241 บาท ภาษีการค้า 1,707,325 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 170,732 บาท รวม 4,659,298 บาท สินค้าชุดที่ 2นำเข้ามาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2531 ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 031-50037 สำแดงราคา 854,632มาร์คเยอรมัน ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพ เท่ากับเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนำเข้า 12,788,029 บาท เสียภาษีในพิกัดประเภท 8426.19 อัตราอากรเหลือร้อยละ 20 เช่นเดียวกับสินค้าชุดแรก เป็นค่าอากรขาเข้า2,557,699.92 บาท ภาษีการค้า 1,570,100.37 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล157,010.04 บาท รวม 4,284,810.33 บาท โดยโจทก์ชำระตามพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประเภทที่ 8426.19 ถือราคาตามที่ซื้อมาเป็นฐานคำนวณค่าภาษีอากร แต่จำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าสินค้าโจทก์ควรเสียภาษีในพิกัดประเภทที่ 8705.10 อัตราอากรร้อยละ 40และราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าควรจะต้องเป็นชุดละ 1,050,477มาร์คเยอรมัน ซี.ไอ.เอฟ. เท่ากันทั้ง 2 ชุด โจทก์ต้องใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารถึง 3 ฉบับ รวม 22,760,000 บาท วางประกันจึงนำของออกได้ ต่อมาโจทก์มีหนังสือชี้แจงโต้แย้งคำสั่งจำเลยที่ 1 แจ้งผลการพิจารณา โดยยืนตามความเห็นของเจ้าพนักงานจำเลย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อให้วินิจฉัยเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร และราคาสินค้าที่จะใช้เป็นฐานคำนวณค่าภาษีอากร ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าสินค้าโจทก์จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 8426.19 และราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นไปตามที่โจทก์สำแดงไว้ ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารแก่โจทก์ทั้ง 3 ฉบับ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน แต่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล เพราะเป็นอุทธรณ์นอกฟ้องนอกประเด็นแต่แก้เป็นให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารเสีย โดยอ้างว่าโจทก์มิได้ฟ้องให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ทั้งนี้ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางคดีหมายเลขแดงที่ 110/2532 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2534 ต่อมาระหว่างวันที่ 4-15 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1แจ้งยอดเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์ชำระสำหรับของตามใบขนสินค้าเลขที่ 011-50173 เป็นเงิน 1,309,405.84 บาทและตามใบขนสินค้าเลขที่ 031-50037 เป็นเงิน 1,375,922.27 บาท โจทก์จำต้องชำระ ทั้งนี้เพื่อจะได้รับหนังสือค้ำประกันของธนาคารคืนจากจำเลย แต่โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและขอคืนจำเลยปฏิเสธ สินค้าพิพาทชำระค่าภาษีอากรที่พึงชำระตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว โดยชำระในพิกัดประเภทที่ 8426.19 และถือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามที่โจทก์สำแดงไว้เป็นฐานคำนวณ การที่จำเลยที่ 1ให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มอีกเป็นการไม่ชอบข้อที่โจทก์วางประกันไว้ต่อกรมศุลกากร โดยใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารนั้นก็เพื่อนำของออกมาก่อน ระหว่างรอคำสั่งชี้ขาดและรอคำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในเรื่องปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร และราคาสินค้าอันจัดใช้เป็นฐานคำนวณค่าภาษีอากรที่ถูกต้องซึ่งต้องใช้เวลาเท่านั้น ซึ่งระหว่างที่โจทก์นำของออกมาและยื่นฟ้องจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 110/2532 ของศาลภาษีอากรกลางนั้นยังมิได้มีการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าเพราะยังโต้แย้งเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอยู่ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องให้เพิกถอนการประเมินเกี่ยวกับภาษีการค้า จริงอยู่หนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์วางไว้ย่อมค้ำประกันอากรขาเข้าและภาษีการค้าด้วยแต่ทั้งนี้โจทก์จะชำระก็ต่อเมื่อมีการวินิจฉัยข้อโต้แย้งในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร และมีการประเมินเรียกเก็บเงินตามมาตรา 88แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น การที่จำเลยเรียกเก็บเงินจากโจทก์สำหรับของตามใบขนสินค้าทั้ง 2 ฉบับ เป็นเงิน 2,685,328 บาทหาได้คำนวณจากรายรับที่ชอบแต่อย่างใดไม่ การเรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ขอให้พิพากษาว่าจำเลยเรียกเก็บเงินจากโจทก์ซ้ำซ้อนสองครั้งเป็นการไม่ชอบ ให้จำเลยคืนเงิน2,685,328 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12กันยายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้คืนเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน2,685,328 บาท ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเดิมโจทก์กับจำเลยที่ 1 พิพาทกันเกี่ยวกับกรณีที่โจทก์นำสินค้าตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อปี 2531 โจทก์ได้ดำเนินการตามพิธีการศุลกากร โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีในพิกัดประเภทที่ 84.26ประเภทย่อยที่ 8426.19 อัตราอากรร้อยละ 30 ลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังเหลือร้อยละ 20 ของราคาสินค้าแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าอยู่ในพิกัดประเภทที่ 87.05 ประเภทย่อยที่ 8705.10 อัตราอากรร้อยละ 40 ไม่ได้รับลดหย่อนอากรและไม่พอใจราคา จึงสั่งให้โจทก์วางประกัน โจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาคลองเตยมาวางเป็นประกันค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแล้วชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1กับได้โต้แย้งเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรและราคาสินค้า แต่จำเลยที่ 1พิจารณาแล้วมีคำสั่งยืนตามความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากรและการประเมินราคาสินค้า ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 84.26 ประเภทย่อยที่8426.19 และราคาที่โจทก์สำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดให้จำเลยที่ 1 คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาคลองเตยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เฉพาะประเด็นเรื่องหนังสือค้ำประกัน โดยให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาคลองเตย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางแต่ในระหว่างที่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มจากภาษีอากรที่โจทก์สำแดงไว้ แล้วแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบตามแบบแจ้งการประเมิน เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3ต่อมาเมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่ได้ประเมินเพิ่มพร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินดังกล่าวและได้รับหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาคลองเตยแล้ว โจทก์ได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 และแผ่นที่ 7โต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบ ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่คืน โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 ประเมินเพิ่มพร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้อันเนื่องมาจากการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ประเมินภาษีอากรและออกแบบแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2และแผ่นที่ 3 ที่จำเลยนำมาอ้าง แต่เป็นการประเมินเรียกเก็บตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2534และโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรรายนี้แล้วตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 6 และแผ่นที่ 7 นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ออกแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2และแผ่นที่ 3 ไปถึงโจทก์ซึ่งเป็นการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามกฎหมาย ส่วนเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 นั้น เป็นหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ค้างชำระอยู่ มิใช่เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากร ย่อมไม่มีผลเป็นการประเมินภาษีอากรตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงต้องถือแต่เฉพาะการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นเป็นสำคัญสำหรับเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 และที่ 7 เป็นหนังสือจากโจทก์มีไปถึงจำเลยที่ 1ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 ประเมินเพิ่มพร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีดังกล่าวแก่โจทก์เนื่องจากโจทก์เห็นว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีที่ไม่ถูกต้อง โดยอ้างถึงหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2แต่หนังสือฉบับนี้ยื่นเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3ย่อมไม่มีผลตามกฎหมายเช่นกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลมาตั้งแต่แรกแล้ว การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1ประเมินเพิ่มย่อมมีผลเท่ากับเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรดังกล่าวต่อศาลโดยตรง โดยไม่ผ่านขั้นตอนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 ที่บัญญัติว่าจะต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนนั่นเอง จึงต้องห้ามมิให้นำคดีเกี่ยวกับภาษีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528
พิพากษายืน

Share