แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นจะเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังจากคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยก็ตาม
การที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ตกต่ำหรือลดลง เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยโดยรู้แล้วว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนค่าเสียหายควรเป็นจำนวนเท่าใด ศาลย่อมกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมชื่อและเครื่องหมายการค้ารูปวีนัสของโจทก์นำไปใช้กับสินค้าของจำเลยซึ่งเป็นสินค้าประเภทและขนาดเดียวกับสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยไม่เคยปลอมหรือนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้จากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์เท่านั้น ส่วนกรณีของจำเลยนี้ ในคดีอาญาจำเลยให้การรับสารภาพโดยโจทก์มิได้นำสืบ ฉะนั้น ในคดีนี้ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 586/2520 ของศาลแขวงขอนแก่น มาผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้นั้น ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติแต่เพียงว่า “ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” กฎหมายหาได้บัญญัติว่าจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการนำสืบของโจทก์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกฟ้องต่อศาลแขวงขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลก็มีอำนาจที่จะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ได้ ฉะนั้นแม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 586/2520 ของศาลแขวงขอนแก่น จะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับฟังจากคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมาผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งจึงชอบแล้ว
ประเด็นเรื่องค่าเสียหาย เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามก็ต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าตกต่ำหรือลดลงเป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม ค่าเสียหายส่วนนี้ควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลย่อมวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามแล้ว เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามชดใช้แก่โจทก์สูงเกินไป สมควรกำหนดให้ต่ำลงอีก
พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนด