แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในนามของโจทก์ ผู้ขายส่งสินค้ามาให้ในนามของโจทก์ การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เปิดในนามของโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำในนามของบริษัท ท. ทั้งการยื่นใบขนสินค้าต่อกรมศุลกากรก็กระทำในนามของโจทก์ เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่ธนาคารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตลงบัญชีว่าบริษัทท. เป็นลูกหนี้และเมื่อบริษัท ท. จ่ายเงินให้โจทก์ ก็บันทึกลดยอดหนี้ดังกล่าวลงพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในนามของโจทก์เอง แล้วโอนขายสินค้าดังกล่าวให้กับบริษัท ท. หาใช่เป็นการสั่งซื้อสินค้าแทนบริษัท ท. ไม่ การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์จากอัตรากำไรมาตรฐานของสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรจึงเป็นการชอบเพราะโจทก์ไม่ยอมรับว่ามีการโอนหรือขายให้บริษัท ท.หรือมีการขายสินค้าชนิดเดียวกันให้แก่บุคคลอื่น จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบเพื่อคิดคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้ โจทก์มอบอำนาจให้ จ. เพื่อให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานประเมินเมื่อ จ. ให้การยอมรับผิดและยอมรับว่า เมื่อบริษัทโจทก์ตรวจนับสินค้าคงเหลือไม่ตรงกับบัญชี บริษัทโจทก์ได้ปรับปรุงรายการเหล่านั้นเป็นสินค้าชำรุด และเสื่อมราคาและลงบัญชีซื้อเป็นต้นทุนขายไว้แล้วทั้งสิ้น แต่ยังมิได้ลงบัญชีขาย การที่เจ้าพนักงานประเมินราคาสินค้าซึ่งโจทก์ไม่ได้ลงบัญชีขายไว้เป็นยอดขายโดยใช้ราคาเฉลี่ยหรือราคาปกติของการขายสินค้าของโจทก์แต่ละประเภทสินค้าในปีนั้น ๆ เป็นเกณฑ์คำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์จึงชอบ โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยประเมินภาษีการค้าให้โจทก์ชำระโดยมิชอบแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยประเมินไม่ชอบอย่างไรทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพียงแต่ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีการค้าศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ 3 สำหรับปี พ.ศ. 2521จำนวน 463,245.05 บาท ปี พ.ศ. 2522 จำนวน 497,213.14 บาท ปีพ.ศ. 2523 จำนวน 344,838 บาท โดยเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ซึ่งเป็นค่าสั่งสินค้าเข้ามาในประเทศแทนบริษัทไทยวินิล จำกัด คิดอัตรากำไรจากำไรมาตรฐานขั้นต้นที่กำหนดไว้และถือเอาเป็นรายได้ที่โจทก์ต้องเสียภาษี นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังคิดค่าสินค้าเสื่อมคุณภาพหรืแตกหักใช้การไม่ได้ ซึ่งโจทก์หักออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือมาคิดเป็นการขายและนำมาประเมินภาษีกับโจทก์ โจท์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีคำวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีปี พ.ศ. 2521 โดยคิดเป็นภาษีการค้าจำนวน57,683.51 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 424,641.20 บาท ปีพ.ศ. 2522 ภาษีการค้าจำนวน 34,168.36 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 455,778.71 บาท ปี พ.ศ. 2523 ภาษีการค้าจำนวน 20,066.79 บาทภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 316,101 บาท การประเมินของจำเลยเป็นการขัดต่อข้อเท็จจริงในการประกอบกิจการค้าของโจทก์ และขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 65, 65 ทวิ, 65 ตรี เพราะกำไรมาตรฐานขั้นต้นนั้นกฎหมายกำหนดให้ถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้า หาได้กำหนดไว้ให้คำนวณเพื่อหากำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้ไม่อีกทั้งการที่จำเลยถือเอาสินค้าคงเหลือที่โจทก์ตัดออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือโดยที่โจทก์ไม่ได้ขายสินค้าดังกล่าวเพราะเป็นสินค้าเสื่อมคุณภาพ นำมาถือว่าโจทก์ได้ขายสินค้านั้นไปแล้วและมาคำนวณภาษีกับโจทก์เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีการขายจริงเป็นการเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ที่ขัดต่อกฎหมายและความเป็นจริงขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มจำนวน 1,308,439.67บาท
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามรายละเอียดในหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1041/ 2/ 02614-02616 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2526 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับเลขที่ 112 ก./ 2527-112 ค./ 2527จึงเป็นการชอบแล้ว สำหรับรายการเกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี และภาษีการค้านั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพียงแต่โจทก์อุทธรณ์อขให้งดหรือลดเบี้ยปรับเท่านั้นจึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฏีกา
ศาลฏีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว วินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วที่โจทก์ฏีกาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศแล้วมอบให้แก่บริษัทไทยวินิลจำกัด เพราะโจทก์สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวแทนบริษัทไทยวินิล จำกัดมิได้สั่งซื้อเพื่อโจทก์เอง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจึงไม่เคยตกเป็ฯของโจทก์และโจทก์ไม่อาจขายหรือโอนทรัพย์สินดังกล่าวได้ดังนั้นการที่จำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีจากการสั่งสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น นายสันติ มหาปิยะศิลป์ผู้จัดการบริษัทโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า บริษัทโจทก์สั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรแทนบริษัทไทยวินิล จำกัดโดยโจท์ไม่ได้คิดผลกำไรจากบริษัทดังกล่าวซึ่งหมายความว่าโจทก์สั่งสินค้าให้บริษัทดังกล่าวโดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ข้ออ้างของพยานโจทก์ปากนี้ขัดต่อเหตุผล เพราะการสั่งสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น ผู้สั่งต้องรับผิดชอบชำระราคาสินค้าให้ผู้ขายทั้งจะต้องรับผิดชอบในการชำระค่าอากรขาเข้าต่อกรมศุลกากรด้วย หากโจทก์กระทำให้บริษัทดังกล่าวโดยไม่คิดค่าตอบแทน โจทก์ก็มีแต่จะขาดทุน เพราะบริษัทดังกล่าวอาจไม่ชดใช้ราคาหรืออากรขาเข้าให้โจทก์ก็ได้พยานโจทก์ปากนี้ก็เบิกความรับว่าบริษัทไทยวินิล จำกัด ดำเนินกิจการขาดทุน เป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดประมาณ 100 ล้านบาท และไม่สามารถชำระหนี้ให้ธนาคารได้ เมื่อฐานะของบริษัทไทยวินิล จำกัดไม่อาจชำระหนี้สินได้เช่นนี้ ย่อมไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องไปเสี่ยงโดยลงทุนสั่งซื้อสินค้าให้บริษัทนี้โดยไม่คิดค่าตอบแทน อย่างไรก็ตามนายสันติและนางสาวจันทนี ยงภิศาลภพ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ทำบัญชีให้โจทก์เบิกความตรงกันว่า โจทก์สั่งซื้อสินค้าในนามของโจทก์เอง ผู้ขายสินค้าจากต่างประเทศก็ส่งสินค้ามาให้โจทก์ในนามของโจทก์ การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็กระทำในนามของโจทก์มิได้อ้างถึงบริษัทไทยวินิล จำกัด แต่อย่างใด ในการยื่นใบขนสินค้าต่อกรมศุลกากรก็กระทำในนามของโจทก์ นอกจากนี้ได้ความจากนางสาวจันทนีว่า ตามบัญชีของบริษัทโจทก์ เมื่อบริษัทโจทก์จ่ายเงินให้แก่ธนาคารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่เปิดไว้ก็จะลงบัญชีลูกหนี้ว่าบริษัทไทยวินิล จำกัด เป็นลูกหนี้โจทก์ แลเมื่อบริษัทดังกล่าวชำระหนี้ให้โจทก์ ทางโจทก์ก็จะลดยอดหนี้ได้ ความดังนี้จึงฟังได้ว่าโจทก์สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อและในนามของโจทก์เองมิใช่สั่งแทนบริษัทไทยวินิล จำกัด แล้วโจทก์โอนขายสินค้าดังกล่าวให้บริษัทไทยวินิล จำกัด การที่จำเลยคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์จากอัตรากำไรมาตรฐานของสินค้าตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรจึงชอบแล้วในเมื่อโจทก์ไม่ยอมรับว่ามีการโอนหรือขายสินค้าและโจทก์ไม่เคยขายสินค้าชนิดเดียวกันนี้ให้แก่ผู้อื่น จึงไม่มีวิธีการอื่นใดที่จำเลยจะคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์โดยให้ความเป็นธรรมได้มากกว่าวิธีนี้…
สำหรับฎีกาโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยประเมินสินค้าที่โจทก์อ้างว่าชำรุดเสียหายเป็นสินค้าที่โจทก์จำหน่ายไปเป็นการไม่ชอบนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ได้ออกหมายเรียโจทก์มาตรวจสอบภาษีตามเอกสารหมาย ล.4 นั้น บริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวจันทนีหรือสุนีย์ ยงภิศาลภพ มาให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานปรเมินแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งระบุว่าโจทก์ยอมรับผิดชอบต่อการกระทำใด ๆ ของนางสาวจันทนีเสือนหนึ่งโจทก์ได้กระทำการนี้ ๆ เอง นางสาวจันทนีได้มห้การต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า นางสาวจันทนีได้ตรวจพบว่าบริษัทโจทก์ลงบัญชีคุมสินค้าว่ามีสินค้าชำรุดและเสื่อมราคาเป็นจำนวนมากและบริษัทได้ตัดบัญชีสินค้าเหล่านั้นออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือโดยที่มิได้ลงบัญชีขาย การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง นางสาวจันทนียอมรับผิดแลยอมรับว่าเมื่อบริษัทตรวจนับสินค้าคงเหลือไม่ตรงกับบัญชี บริษัทก็ได้ปรับปรุงรายการเหล่านั้นเป็นสินค้าชำรุด และได้ลงบัญชีซื้อเป็นต้นทุนขายไว้แล้วทั้งสิ้น แต่ยังมิได้ลงบัญชีขาย นางสาวจันทนียอมรับผิดและยอมให้เจ้าพนักงานประเมินราคาสินค้าซึ่งบริษัทไม่ได้ลงบัญชีขายไว้เป็นยอดขายของบริษัทโดยใช้ราคาเฉลี่ยหรือราคาปกติของการขายสินค้าของบริษัทแต่ละประเภทสินค้าในปีนั้น ๆ เป็นเกณฑ์คำนวณปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.11 เมื่อเป็นดังนี้จึงต้องถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยประเมินสินค้าที่โจทก์อ้างว่าชำรุดเสียหายเป็นสินค้าที่โจทก์จำหน่ายไป จำเลยจึงมีอำนาจประเมินเช่นนั้นได้โดยชอบ…
ที่โจทก์ฎีการข้อสุดท้ายว่า จำเลยประเมินภาษีการค้าของโจทก์โดยมิชอบนั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยประเมินภาษีการค้าของโจทก์โดยไม่ชอบอย่างไรบ้าง ฟ้องโจทก์คัดค้านเฉพาะการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น นอกจากนี้ในชั้นที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ก็มิได้คัดค้านในเรื่องการประเมินภาษีการค้าแต่อย่างใด โจทก์เพียงขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีการค้าโดยโจทก์ยอมรับว่าโจทก์เข้าใจข้อกฎหมมายคลาดเคลื่อนศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับภาษีการค้า…”
พิพากษายืน.