คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2603/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดขอให้จ่ายเงินต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงานแก่โจทก์ การที่จำเลยให้การว่า มีลูกค้าจำเลยซื้อตั๋วท่องเที่ยว และได้ชำระค่าตั๋วให้จำเลยเป็นเช็คมอบให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายตั๋ว ต่อมาจำเลยตรวจพบว่าเช็คดังกล่าวไม่ได้เข้าบัญชีจำเลยแต่เช็คหายไป จำเลยได้สอบถามสาเหตุ โจทก์ปฏิเสธ การที่โจทก์มีหน้าที่จำหน่ายตั๋วท่องเที่ยวรับเงินค่าขายตั๋วแล้วละเลยต่อหน้าที่เป็นเหตุให้เช็คหายไปจากความครอบครองดูแลของโจทก์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายนั้น จำเลยมิได้ยืนยันว่าโจทก์ลักเช็คไปและประมาทเลินเล่อทำให้เช็คหายด้วยทั้งสองประการ แต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการลักทรัพย์หรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่าที่ทางพิจารณาได้ความ คำให้การจำเลยจึงไม่ได้ขัดกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเข้าทำงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2538 ตำแหน่งหัวหน้าทัวร์ มีหน้าที่พาลูกค้าไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ วันที่ 16 เมษายน 2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้โจทก์เสียหายอย่างร้ายแรงและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 45 วัน และค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2539 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2539 จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์ ซึ่งโจทก์จะได้รับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากลูกค้าในระหว่างพาลูกค้าไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท โดยขอคิดเป็นเวลา 22 เดือน เป็นเงิน440,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 37,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 18,750 บาทค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 6,250 บาท และค่าขาดประโยชน์จำนวน440,000 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง กล่าวคือเมื่อต้นเดือนเมษายน 2539ลูกค้าจำเลยติดต่อขอซื้อตั๋วท่องเที่ยวและได้ชำระค่าตั๋วด้วยเช็คเงินสดจำนวน 200,000 บาท มอบให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายตั๋วโจทก์ได้ออกหลักฐานการรับเงินมอบให้ลูกค้าแล้วโดยโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินแทนจำเลย ต่อมาจำเลยตรวจสอบพบว่าเช็คดังกล่าวไม่ได้นำไปเข้าบัญชีจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินแต่เช็คหายไป กรรมการผู้จัดการจำเลยได้สอบถามถึงสาเหตุที่เช็คหายไปโจทก์ปฏิเสธจำเลยจึงให้ทนายความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์แต่ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเช็คดังกล่าวถูกนำไปเข้าบัญชีบุคคลภายนอกเพื่อให้เรียกเก็บเงิน จึงไม่มีหลักฐานพอฟังว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิด การกระทำดังกล่าวถือเป็นเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายได้ เพราะโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบในการจำหน่ายตั๋วและรับเงินค่าตั๋วแต่โจทก์ละเลยต่อหน้าที่เป็นเหตุให้เช็คค่าตั๋วที่ลูกค้านำมาชำระหายไปจากความครอบครองดูแลของโจทก์ เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่หัวหน้าทัวร์และช่วยทำงานที่สำนักงานของจำเลยได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,000 บาท เหตุที่โจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากลูกค้าของจำเลยชื่อนางณัฐจงกล ล้อประดิษฐ์กุล นำเช็คจำนวน 155,000 บาท ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือมาจ่ายค่าตั๋วท่องเที่ยวผ่านโจทก์โจทก์รับเช็คไว้แล้วได้มอบให้บุคคลอื่นไป ต่อมามีผู้ทุจริตนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ด้วยข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้ววินิจฉัยว่าการที่โจทก์รับเช็คจากลูกค้าของจำเลยเป็นเช็คผู้ถือไว้แล้วไม่นำส่งพนักงานบัญชีหรือผู้มีอำนาจของจำเลยรับไว้แทนจำเลยจนมีการนำเช็คฉบับดังกล่าวเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินโดยทุจริตส่อแสดงว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าขาดประโยชน์ตามฟ้องแก่โจทก์ จำเลยค้างชำระค่าจ้างในเดือนสุดท้ายแก่โจทก์ 15 วัน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างชำระจำนวน2,500 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ว่าโจทก์กระทำผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง และประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรงจากข้อเท็จจริงเดียวกันเป็นคำให้การที่ขัดกัน เพราะหากโจทก์กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างก็ไม่เป็นการประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างเสียหายร้ายแรงกลับกันฉันใดก็ฉันนั้น จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้ในทางคดีอาญาไม่อาจจะเอาผิดแก่โจทก์ได้แต่ก็ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นการเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นการวินิจฉัยคดีตามข้อต่อสู้ของจำเลยซึ่งขัดแย้งกันจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า จำเลยให้การว่า สาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยจำเลยได้ให้การถึงสาเหตุดังกล่าวว่า เนื่องจากมีลูกค้าจำเลยติดต่อขอซื้อตั๋วท่องเที่ยว(ตั๋วทัวร์) และได้ชำระค่าตั๋วให้จำเลยเป็นเช็คเงินสด 200,000 บาทมอบให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายตั๋ว โจทก์ได้ออกหลักฐานการรับเงินให้ลูกค้าไป ต่อมาจำเลยตรวจพบว่าเช็คฉบับดังกล่าวไม่ได้เข้าบัญชีจำเลย แต่เช็คหายไปจำเลยได้สอบถามสาเหตุที่เช็คหาย โจทก์ปฏิเสธจำเลยจึงให้ทนายความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเช็คฉบับดังกล่าวถูกนำไปเข้าบัญชีบุคคลภายนอกเพื่อให้เรียกเก็บเงินจึงไม่มีหลักฐานพอฟังว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิด แม้พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องโจทก์ แต่การที่โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบจำหน่ายตั๋วท่องเที่ยวรับเงินค่าขายตั๋วแล้วละเลยต่อหน้าที่เป็นเหตุให้เช็คที่ลูกค้าชำระค่าตั๋วให้จำเลยหายไปจากความครอบครองดูแลของโจทก์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย เห็นได้ว่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว จำเลยได้ให้การถึงข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของโจทก์ตั้งแต่ก่อนเช็คที่ลูกค้านำมาชำระค่าตั๋วให้จำเลยซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์หายไปจนถึงการดำเนินการของจำเลยหลังจากเช็คดังกล่าวหายไปโดยมิได้ยืนยันว่าโจทก์ลักเช็คไปและประมาทเลินเล่อทำให้เช็คหายด้วยทั้งสองประการ แต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการลักทรัพย์หรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่าที่ทางพิจารณาได้ความ คำให้การจำเลยจึงไม่ได้ขัดกันแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share