แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คนขับรถยนต์ของโจทก์นำรถไปบรรทุกไม้ผิดกฎหมายศาลพิพากษาลงโทษและสั่งริบรถยนต์ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่โจทก์ตามคำร้อง โจทก์ขอรับรถคืนสารวัตรสถานีตำรวจจำเลยที่ 3 ไม่คืนให้ เพราะได้ขายทอดตลาดไปแล้ว ดังนี้ กรมตำรวจจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมกันคืนรถหรือใช้ราคารถตามสภาพขณะยึดมาเป็นของกลางไม่ใช่ตีราคาโดยอาศัยราคาที่ได้จากการขายทอดตลาด รวมทั้งค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถด้วย
ย่อยาว
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 30 เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2523
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 และที่ 3อยู่ในสังกัดและใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องปฏิบัติการหรือไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน นอกจากจำเลยมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติแล้ว จำเลยยังมีหน้าที่รักษาของกลางในคดีอาญาไว้ระหว่างการพิจารณาของศาลจนกว่าคดีถึงที่สุด และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วจะต้องเก็บรักษาไว้ตามระยะเวลาซึ่งกฎหมายกำหนด โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกอีซูซุ 6 สูบ หมายเลขทะเบียน พ.ท.01225 หมายเลขเครื่องยนต์ ดี.เอ.120-394920 ราคา 200,000 บาท มีไว้ในกิจการค้าขายของโจทก์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2519 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ขณะนั้นจำเลยที่ 2รับราชการตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 3 รับราชการเป็นสารวัตรสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง และอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 รถยนต์คันดังกล่าวของโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยจับในข้อหาผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ยึดไว้เป็นของกลางจำเลยได้นำรถยนต์ของโจทก์เก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพยูน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์ของโจทก์ แต่ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2521 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับรถยนต์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 3 ถึง 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2521 และวันที่ 11 เมษายน 2522 จำเลยที่ 3 ก็เพิกเฉยไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ และไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเพราะต้องใช้รถยนต์ของกลางบรรทุกวัสดุในกิจการค้าของโจทก์ โจทก์ต้องจ้างรถยนต์บุคคลอื่นแทน ต้องเสียค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาทโจทก์ขอคิดค่าเสียหายจาก จำเลยนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับรถยนต์คืนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน เป็นเงิน 72,000 บาท ขอพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน พ.ท. 01225 ให้โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้เงินแทน 200,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องจ้างรถยนต์บุคคลอื่นเป็นเงิน 72,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยคืนรถยนต์ให้โจทก์หรือใช้เงินแทนเดือนละ 6,000 บาทหรือวันละ 200 บาท ให้โจทก์ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมมิได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งจำเลยไม่สามารถเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ ในวันที่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2521 นั้น จำเลยที่ 2 มิได้รับราชการอยู่ในจังหวัดพัทลุง ไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์เรียกร้องให้ใช้เงินค่ารถยนต์ 200,000 บาท เป็นการเรียกร้องเกินความจริง รถยนต์ของโจทก์ใช้งานมา 12 ปีแล้ว หากจะขายตามปกติในวันที่โจทก์ฟ้องจะขายได้ไม่เกิน25,000 บาท นายสมพร สิทธิบิดาโจทก์ ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ประมูลซื้อรถยนต์ของโจทก์นี้ ไปจากการขายทอดตลาดของทางราชการกรมตำรวจก็ซื้อไปในราคา25,000 บาท ค่าเสียหายที่โจทก์จ้างรถยนต์บุคคลอื่นบรรทุกสินค้านั้นเป็นการคาดคะเน กิจการค้าของโจทก์เป็นการค้าย่อมมีผู้มาซื้อน้อยรายไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์บรรทุกกับผู้ซื้อทุกรายและทุกวัน โจทก์มีรายได้จากการขายสินค้าของโจทก์ปีละไม่เกิน 60,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าจ่ายเป็นค่ารถยนต์บรรทุกสินค้าปีละ 72,000 บาท เกินความเป็นจริง จะเสียค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 500 บาทปีละไม่เกิน 7,200 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยที่ 1และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน พ.ท.01225 แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนให้ใช้ราคารถยนต์แทนเป็นเงิน 40,000 บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ต้องจ้างรถยนต์บุคคลอื่นบรรทุกสินค้านับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2521 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 72,000บาทกับค่าเสียหาย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะคืนหรือใช้ราคารถยนต์ให้โจทก์วันละ 200 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยเฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดีแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้1,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 500 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่ารถยนต์บรรทุก 6 ล้อของกลางยี่ห้ออีซูซุ เป็นของโจทก์ นายเพี้ยน รุ่งโรจน์ คนขับรถยนต์ของโจทก์ได้นำไปบรรทุกไม้ผิดกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดและสั่งริบรถยนต์ของโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง ที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่โจทก์ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2521 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2521 และวันที่ 11 เมษายน 2522 โจทก์ยื่นคำขอรับรถยนต์ของกลางคืนต่อสารวัตรสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพะยูน ร้อยตำรวจเอกภูวดลกระแสร์อินทร์ จำเลยที่ 3 ไม่คืนให้ และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ โจทก์มีอาชีพค้าขายอิฐ มีโรงเผาอิฐ และมีรถยนต์ของกลางไว้ใช้บรรทุกดินมาทำอิฐบรรทุกไม้ฟืนมาเผาอิฐ และบรรทุกอิฐไปขาย กับใช้บรรทุกหินและทราบไปขายตามที่มีผู้มาติดต่อซื้อ ทั้งยังใช้บรรทุกไม้ยางพาราไปขายที่โรงเลื่อยด้วย วันหนึ่งจะมีกำไรประมาณ 500 บาท ตอนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ของกลางนั้นสภาพรถยนต์มีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ราคาประมาณ 200,000 บาทปัจจุบันมีราคาประมาณ 400,000 บาท การที่รถยนต์โจทก์ถูกยึดโจทก์ต้องจ้างรถยนต์บุคคลอื่นมาใช้เสียค่าจ้างวันละ 500 – 600 บาท
จำเลยที่ 1 ไม่สืบพยาน
จำเลยที่ 3 นำสืบว่ารถยนต์ของโจทก์ถูกยึดเป็นของกลาง เพราะใช้บรรทุกไม้ผิดกฎหมาย เมื่อกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง จำเลยที่ 3 ได้ตั้งกรรมการเปิดประมูลขายทอดตลาดรวมทั้งทรัพย์อื่น ๆ ด้วย การขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางของโจทก์ ได้ขายให้แก่นายสมพร ชนะสิทธิ์ บิดาโจทก์ซึ่งประมูลซื้อไปในราคา 25,000 บาท
พิเคราะห์แล้วปัญหามีว่า รถยนต์ของกลางของโจทก์ควรมีราคาเท่าใดเห็นว่า การตีราคารถยนต์ชอบที่จะตีราคาตามสภาพของรถยนต์ในขณะที่ยึดมาเป็นของกลาง มิใช่ตีราคาโดยอาศัยราคาที่ได้จากการขายทอดตลาด เพราะตามปกติการขายทอดตลาดอยู่ในวงจำกัดมีผู้ประมูลการสู้ราคากันน้อย ราคาที่ขายอาจจะถูกกว่าการขายโดยธรรมดา ดังนั้นราคาประมูลขายทอดตลาดจึงไม่อาจสืบได้ว่าเป็นราคาตามสภาพรถยนต์ที่แท้จริง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดราคารถยนต์ของกลางให้ 40,000 บาท นับว่าเป็นการเหมาะสมแล้ว
ปัญหาต่อไปเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ต้องจ้างรถยนต์บุคคลอื่นมาใช้ในกิจการของโจทก์นั้นมีเพียงใด ข้อนี้โจทก์และพยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันต้องกันว่า โจทก์ค้าขายอิฐ มีโรงทำอิฐ ต้องใช้รถยนต์ของกลางบรรทุกดินฟืนมาเผาทำอิฐ และขนอิฐไปขาย ทั้งยังบรรทุกหินทรายไปขายด้วย และเมื่อรถยนต์ของโจทก์ถูกยึดเป็นของกลาง โจทก์ต้องจ้างรถยนต์ของนายสวัสดิ์มุสิกะสงค์ พยานโจทก์และบุคคลอื่นไปบรรทุกสิ่งของใช้ในกิจการของโจทก์ซึ่งจำเลยนำสืบรับว่าโจทก์มีโรงทำอิฐจริง และก็มิได้นำสืบหักล้างได้ว่าโจทก์มิได้ประกอบอาชีพค้าขายและต้องจ้างรถยนต์บุคคลอื่นมาใช้ในกิจการค้าของโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในกรณีนี้วันละ 200 บาทแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา600 บาทแทนโจทก์