คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แนะนำไม่ให้จำเลยมาศาลเพื่อฟังคำสั่งศาลและเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้จำเลยหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับหมายต่างๆ ของศาลศาลชั้นต้นจึงได้ทำการไต่สวนในข้อหาว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และได้มีคำสั่งให้ทนายจำเลยมาศาลด้วยตนเองทุกนัดที่มีการนัดไต่สวนกรณีเช่นนี้ ทนายจำเลยไม่มีฐานะเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 19 ฉะนั้น การที่ทนายจำเลยไม่มาศาลตามคำสั่งศาล จึงไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31(5)และ มาตรา 19
เมื่อปรากฏต่อศาลว่า ผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาล หรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใดศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่คู่ความพิพาทกัน มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่า ทนายจำเลยกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแต่ศาลยังมิได้ลงโทษทนายจำเลยศาลยังได้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับเรื่องละเมิดอำนาจศาลโดยเฉพาะอีก และให้โอกาสทนายจำเลยที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบแสดงต่อศาลครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยก็ไม่มาศาล และไม่แจ้งเหตุขัดข้องอย่างไร แม้ภายหลังที่ศาลสั่งลงโทษทนายจำเลยแล้ว ทนายจำเลยก็มิได้แจ้งเหตุขัดข้องอย่างไรต่อศาลซึ่งแสดงว่าทนายจำเลยจงใจไม่อ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบ และหลบเลี่ยงการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในเรื่องละเมิดอำนาจศาลดังนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องทนายจำเลยละเมิดอำนาจศาลมาชอบแล้ว
เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังได้ว่า ทนายจำเลยเป็นผู้ยุยงเสี้ยมสอนให้ตัวความหลบเลี่ยงไม่รับหมายของศาลตลอดมาการกระทำของทนายจำเลยย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31(3)(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2507)
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งพนักงานอัยการฎีกาได้

ย่อยาว

คดีนี้ เนื่องจากจำเลยหลีกเลี่ยงไม่รับหมายต่าง ๆ ของศาล จนศาลต้องออกหมายจับจำเลย จำเลยได้มาแถลงต่อศาลว่า นายวิชัยทนายจำเลยเป็นผู้แนะนำให้จำเลยหลบหนีไม่รับหมายต่าง ๆ ของศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่า มีการละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้น จึงได้ทำการไต่สวนพยานจำเลยที่รู้เห็น แล้วหมายเรียกนายวิชัยทนายจำเลยมาศาล นายวิชัยขอสืบพยานแก้ข้อกล่าวหา ศาลชั้นต้นกำหนดให้นายวิชัยนำพยานมาไต่สวนในวันที่ 13 มีนาคม 2505 และสั่งให้นายวิชัยมาศาลด้วยตนเองทุกนัดที่มีการนัดไต่สวน ครั้นถึงวันนัดไต่สวนนายวิชัยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจับนายวิชัยและมีคำสั่งว่า

“เรื่องขัดขืนไม่มาศาล เห็นว่า ข้อกำหนดของศาลตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 10 มีนาคม 2505 นั้น นายวิชัยได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งศาลแล้ว แต่พอถึงวันนัดไต่สวนนัดแรก คือวันที่ 13 มีนาคม 2505 นายวิชัยไม่มาศาล ทั้งมิได้แจ้งเหตุขัดข้องที่ตนไม่ได้มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 19 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(5) ประกอบมาตรา 19 มีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกนายวิชัย 1 เดือน

เรื่องร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่รับหมายต่าง ๆ ของศาล ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายวิชัยได้แนะนำให้จำเลยหลบหนีไปไม่รับหมายต่าง ๆ ของศาล เป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเสมือนเป็นตัวการด้วย มีคำสั่งว่า จำเลยมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(3) ปรับ 500 บาท ส่วนนายวิชัยมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(3) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จำคุกนายวิชัย 6 เดือน”

นายวิชัยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จะนำมาตรา 19 มาบังคับแก่นายวิชัยหาได้ไม่การที่นายวิชัยไม่มาศาลในวันนัด ไม่เป็นการขัดขืนไม่มาศาลตามคำสั่งของศาลตามนัยแห่งมาตรา 19 ที่ศาลชั้นต้นกล่าวอ้างมา นายวิชัยยังไม่มีความผิด ส่วนเรื่องร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่รับหมายต่าง ๆ ของศาลนั้น ศาลจะฟังคำพยานชั้นไต่สวนลับหลังนายวิชัยย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 และ 172 ทวิ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ลงโทษนายวิชัยโดยปล่อยตัวนายวิชัยพ้นข้อหาไป

พนักงานอัยการฎีกาขอให้ลงโทษนายวิชัยยืนตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลสั่งให้นายวิชัยมาศาลก็เพื่อจะดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องละเมิดอำนาจต่อนายวิชัยโดยเฉพาะ ไม่ใช่ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีที่พิพาทกัน และการที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวต่อนายวิชัย ไม่อาจถือได้ว่านายวิชัยเป็นคู่ความกับศาล ศาลฎีกาได้พร้อมกันประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเรื่องนี้ นายวิชัยไม่มีฐานะเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 19 ฉะนั้น การที่นายวิชัยไม่มาศาลตามคำสั่งของศาล จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(5) ประกอบด้วยมาตรา 19

ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติถึงเรื่องละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ พึงเห็นได้ว่า ให้อำนาจศาลไว้เป็นพิเศษโดยไม่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ต้องมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน ไม่ต้องมีโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษได้การปรากฏต่อศาลว่า ผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาลนั้น จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่คู่ความพิพาทกัน มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่า นายวิชัยกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลยังมิได้สั่งลงโทษนายวิชัย ศาลยังได้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับเรื่องละเมิดอำนาจศาลโดยเฉพาะอีก และให้โอกาสนายวิชัยที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบแสดงต่อศาล ครั้นถึงวันนัดนายวิชัยก็ไม่มาศาล และไม่แจ้งเหตุขัดข้องอย่างไรต่อศาล ซึ่งแสดงว่านายวิชัยจงใจไม่อ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบและหลบเลี่ยงการดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องนายวิชัยละเมิดอำนาจศาล ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องนายวิชัยละเมิดอำนาจศาลมาชอบแล้ว และกระบวนพิจารณานั้นรับฟังได้ว่า นายวิชัยซึ่งเป็นทนายเป็นผู้ยุยงเสี้ยมสอนให้ตัวความหลบเลี่ยงไม่รับหมายของศาลตลอดมา

การหลีกเลี่ยงไม่รับหมายของศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กรณีเรื่องนี้นายวิชัยเป็นต้นคิดและยุยงเสี้ยมสอนให้ตัวความหลบเลี่ยงไม่รับหมายของศาล กรณีเห็นได้ว่าตัวความไม่มีความคิดนึกที่จะกระทำด้วยตนเองนอกจากทำตามความคิดและเสี้ยมสอนของนายวิชัยซึ่งเป็นทนาย นายวิชัยเป็นต้นตอและเป็นตัวการสำคัญในการกระทำผิดยิ่งกว่าตัวความเองเสียอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ก็บัญญัติให้ผู้กระทำการดังกล่าวเป็นตัวการในความผิดนั้น ๆ ด้วย ซึ่งมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก็บัญญัติให้ใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วยเว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น บทบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลก็มิได้แสดงว่าบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า นายวิชัยมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(3)

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่านายวิชัยมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(3), 33ให้จำคุก 6 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์

Share