คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปออกให้ผู้อื่นเช่าและค่าขาดราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดไปจากราคาตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
แม้สัญญาเช่าซื้อจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนทุกดวงตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ก็ตาม แต่ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวกับโจทก์จริง กรณีจึงไม่ต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ก็สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันที ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๑๙๓,๑๙๐.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า… โจทก์ฟ้องคดีนี้พ้นกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๔๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๐๖,๐๗๔.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์ในราคา ๓,๒๘๐,๓๗๔ บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ ๖๐ งวด งวดละ ๕๔,๖๗๒.๙๐ บาทต่อเดือน เมื่อรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินที่ต้องชำระงวดละ ๕๘,๕๐๐ บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๗ งวดต่อไปชำระทุกวันที่ ๑๕ ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และหนังสือค้ำประกันเอกสาร จ.๔ และ จ.๕ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อเพียง ๒๓ งวด เป็นเงิน ๑,๒๕๗,๔๗๖.๗๐ บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน ๑,๓๕๐,๐๐๐ บาทเศษ ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.๒ จากนั้นผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ ๒๔ ประจำวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นมา สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันทีในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๐ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ต่อมาวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ โจทก์ได้รถยนต์คืนมาและนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน ๑,๕๔๕,๔๕๔,.๕๕ บาท เมื่อรวมกับภาษีมูลคาเพิ่มเป็นเงิน ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.๑๐ ราคารถยนต์ยังขาดไปจากราคาเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้ออีก ๔๗๗,๔๔๒.๗๕ บาท โจทก์ลงทุนในรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อเป็นเงิน ๒,๒๕๐,๐๐๐ บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ ยังคงครอบครองและใช้ทรัพย์ของโจทก์ตลอดมา โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยมิชอบเป็นเวลา ๑๓ เดือน เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์ อันควรได้จากการนำทรัพย์สินออกไปให้เช่าและเมื่อโจทก์ยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนมาแล้วนำออกประมูลขายได้ราคาเพียง ๑,๕๔๕,๔๕๔.๕๕ บาท เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดราคารถยนต์ไปจากราคาเช่าซื้ออีก ๔๗๗,๔๔๒.๗๕ บาท ดังนี้ฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ดังกล่าวออกให้เช่าและค่าขาดราคาของรถยนต์ที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อนั่นเอง มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ทรัพย์สินที่เช่าสูญหายหรือบุบสลายดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด ซึ่งการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคาเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ มิใช่อายุความหกเดือนดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ได้ความว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ยังไม่เกิน ๑๐ ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยทั้งสองประการที่สองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สัญญาเช่าซื้อใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ เพราะมิได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ครบทุกดวง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ เห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.๔ จะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนทุกดวงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ตาม แต่คำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ ๑ มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อตามสำเนาสัญญาเช่าซื้อที่แนบมาท้ายคำฟ้องซึ่งตรงกับสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.๔ และจำเลยที่ ๑ก็เบิกความยอมรับว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.๔ กับโจทก์จริง จึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ก็สามารถรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.๔ กับโจทก์ ดังนั้น แม้สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวมิได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนทุกดวงก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวแล้วได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share